คสรท.จี้ รัฐ-นายจ้าง ยุติเลือกปฏิบัติ เนื่องใน “วันแรงงานข้ามชาติสากล”

แถลงการณ์ 6 ข้อเรียกร้อง เร่งแก้ปัญหาแรงงานถูกเอาเปรียบ กดขี่ค่าแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน ค้ามนุษย์ เสนอให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิสวัสดิการ คุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม พร้อมขอรัฐ เร่งจัดการนายหน้าหาผลประโยชน์นำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย  

วันนี้ (18 ธ.ค.65) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการณ์เนื่องใน “วันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2565” โดยแถลงการณ์ ระบุว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการผลิตและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ยังพบว่า ตลอดช่วงเวลากว่า 45 ปี หลังจากที่ไทยเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่ปี 2520 แรงงานข้ามชาติในไทยยังถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้ประกอบ ยังเกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงานข้ามชาติและการจ้างงานที่เป็นธรรม

เช่น การกดราคาค่าจ้าง, การทำงานในสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตราย ไม่ถูกสุขอนามัย, พบการกักขังหน่วงเหนี่ยว, การค้ามนุษย์, การสร้างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่มีความล่าช้า และซับซ้อน แรงงานข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม, มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงขบวนการจ้างงาน การทำงาน ทั้งเรื่องการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ (วีซ่า), ใบอนุญาตการทำงาน และการซื้อหลักประกันสุขภาพ มีค่าใช้จ่ายสูง สร้างความยากลำบากให้แก่แรงงานข้ามชาติ แต่กลับเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้า ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน

คสรท. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. รัฐบาล ผู้ประกอบการ ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ โดยแรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน, กฎหมายประกันสังคม, หลักประกันสุขภาพ และ กองทุนเงินทดแทน เป็นต้น รวมทั้งสร้างมาตรการรองรับ ดูแลสำหรับบุตรของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในช่วงตั้งครรภ์ การคลอด การดูแล และการศึกษา

2. สนับสนุน ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การจ้างงาน ให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความรวมตัว ร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานและมีเวทีเจรจาพูดคุยกับนายจ้าง ในประเด็นของค่าจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ

3. กำหนดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยเฉพาะ การจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน, กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้ทำงานที่สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ การขึ้นทะเบียนลูกจ้างตามมติ ครม. ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานข้ามชาติมากเกินไป เป็นช่องว่างให้นายจ้างไม่ต่อใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมให้ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างมีภาระค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านนายหน้าที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด

4. การปราบปรามกลุ่มนายหน้าที่นำพาแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย และหลอกลวงแรงงานให้หลงเชื่อ นำไปซึ่งการได้ทรัพย์สินของแรงงาน จะต้องมีการปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แรงงานตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับ ขบวนการค้ามนุษย์

5. นโยบายเยียวยาแรงงานจะต้องครอบคลุมแรงงานทุกสัญชาติ ไม่เฉพาะแรงงานสัญชาติไทย เช่น มาตรา 33 เรารักกัน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา

6. ลดขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการนำแรงงานชาติเข้ามาทำงานของผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายของแรงงานและเป็นการป้องกันมิให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ และแรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเปลี่ยนนายจ้างได้

สำหรับ “วันแรงงานข้ามชาติสากล” นั้นองค์การสหประชาชาติ ระบุว่าให้เป็น วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ภายหลังได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิเป็นแรงงาน เพื่อให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่อพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทาง ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกมิติ ซึ่งเป็นไปตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ จากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และอื่น ๆ กว่า 4 ล้านคน โดยข้อมูลจากของกรมการจัดหางาน พบว่า ณ เดือนตุลาคม ปี 2565 ไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศเพียง 2.7 ล้านคน เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ถึง 2.4 ล้านคน หรือคิดเป็นถึง 90% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active