ถูกเอาเปรียบเพราะ “ไม่รู้เอกสาร ไม่รู้ภาษา” สถานการณ์แรงงานข้ามชาติหญิงอาเซียน

3 องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมรณรงค์ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายสตรีกว่า 1.3 แสนคนทั่วอาเซียน แสดงพลังป้องกันความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ ผ่านเสวนาและนิทรรศการ “Safe Journey with Her”

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสหประชาชาติ (UN) จัดนิทรรศการและเวทีเสวนาเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายที่แรงงานข้ามชาติหญิงในประเทศอาเซียนต้องเผชิญ ภายใต้ชื่อ ‘Safe Journey with Her : Ending Violence against Women for Safe and Fair Migration’ (ช่วยพวกเธอเดินทางอย่างปลอดภัย: หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อการย้ายถิ่นทำงานที่ปลอดภัยและเป็นธรรม) เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจและให้ความสำคัญกับสิทธิที่พึงมีของแรงงานหญิงข้ามชาติ โดยมีตัวแทนแรงงานหญิงจากประเทศอาเซียน เข้าร่วมชมนิทรรศการและเสวนา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 4

ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานศิลปะมากกว่า 40 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายสะท้อนชะตากรรมที่แรงงานหญิงข้ามชาติต้องเผชิญ และการแสดงออกเพื่อเรียกร้องขอความยุติธรรม ผ่านลายเส้นและสี ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานของ ‘ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา’ หรือ Juli Baker and Summer ศิลปินหญิงชาวไทย ผู้ใช้ ‘ปลายพู่กัน’ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม

รวมทั้งนิทรรศการที่แสดงให้เห็นเสียงสะท้อนจากแรงงานหญิงข้ามชาติในประเทศอาเซียน โดยเป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ที่พวกเธอถูกกดขี่จากนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะไม่รู้เรื่องเอกสาร ไม่เข้าใจภาษาของประเทศนั้น ๆ ทำให้ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบได้โดยง่าย 

“ตอนที่เราไปเมืองไทยเพื่อหางานทำ เราไม่มีเอกสารราชการ เราจึงกลัวที่จะถูกทารุณกรรมหรือจับกุม แม้นายจ้างไม่ให้เงินเดือนฉันเลย ฉันก็ไม่กล้าที่จะเรียกร้อง เพราะพวกนายจ้างสามารถจับกุมฉันและจำคุกฉันได้”

ยุน โสภาณี แรงงานหญิงชาวกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันเรื่องราวจากนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานหญิงข้ามชาติ ที่เข้าไปทำงานสำรวจและช่วยเหลือ ซึ่งพวกเขาได้พยายามถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสิทธิที่ควรได้รับ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานต่างถิ่น ปัจจุบันมีการสนับสนุนจากเครือข่ายของผู้หญิงถึง 130,342 คน ทำงานเชิงรุกในการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและการค้ามนุษย์กระจายอยู่ทุกประเทศอาเซียน

“ฉันหวังว่าตอนนี้ผู้หญิงทุกคนที่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเอง จะรู้ว่าสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน และหวังอีกว่าพวกเขาจะแบ่งปันข้อมูลกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในเครือข่ายของพวกเขา ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะอพยพอย่างปลอดภัยและเดินทางกลับประเทศของตนเองโดยปราศจากความรุนแรง”

Dr.Ir.Harry Hikmat

ขณะที่เวทีเสวนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองจากการทำงานขับเคลื่อนเพื่อสิทธิแรงงานหญิงข้ามชาติ โดย เซี๊ยะ กู่แก้วเกษม จาก Freedom Restoration Project, Dr.Stephanie Chock ผู้อำนวยการบริหารจาก Home ประเทศสิงคโปร์ และ Ms.Fish Ip ผู้ประสานงานประจำภูมิภาคของสหพันธ์ลูกจ้างทำงานบ้านนานาชาติ

จากการคลุกคลีกับการทำงานของแรงงานหญิงข้ามชาติ เพื่อช่วยผลักดันให้พวกเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม โดยชี้ให้เห็นด้วยว่า สถานการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติในขณะนี้ไม่ได้รับความเท่าเทียม ไม่ต่างจาก ‘แรงงานชายข้ามชาติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญในทุกมิติ ทั้งเรื่องค่าจ้าง สัญญาการจ้างงาน สภาพการทำงาน การถูกเลือกปฏิบัติโดยใช้ความรุนแรงทั้งการกระทำและคำพูด รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ ด้วยทัศนคติทางสังคมที่ไม่ให้การยอมรับจนนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา

ด้าน ปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการองค์การสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มองว่า การส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับแรงงานของ ILO จะต้องส่งเสริมให้งานของแรงงานหญิงข้ามชาติเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน (Decent Work) หรืองานที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ทำงานทุกคน และสุดท้ายจะนำไปสู่ความเท่าเทียมในที่สุด

“เราส่งเสริมให้มีการทำงานที่มีคุณค่า หรือที่เรียกว่า Decent Work คือ เรื่องของความเป็นธรรมในสภาพการจ้างงานและการคุ้มครองที่เป็นสิทธิพื้นฐานเป็นสำคัญ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในสหภาพแรงงาน ซึ่งนี่คือนโยบายที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศต้องการเห็นในแง่ของความเท่าเทียมกันในโลกของการทำงาน”

ปนัดดา บุญผลา

อย่างไรก็ตาม ปนัดดามองว่า ในมิติของแรงงานข้ามชาติ การตั้งสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีบ้างประเทศที่สหภาพแรงงานพยายามให้แรงงานข้ามชาติเข้ามามีส่วนด้วย เช่น มาเลเชีย หรือแม้กระทั่งไทย ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของแรงงานหญิง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม ทั้งในแง่ของนโยบาย กฎหมายและอื่น ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น