ปรับ ครม. เดิมพันประเทศไทย #เหล้าเก่าในขวดเดิม

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สาธิต ปิตุเตชะ และกรณ์ จาติกวณิช ร่วมวิเคราะห์โฉมหน้า ครม.ประยุทธ์ 2/3 พร้อมจับตาเลือกตั้งซ่อม

ปรับ ครม. เกมการเมืองในมือใคร?

การปรับ ครม. รอบนี้ เป็นผลพวงมาจากศึก อภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนการเมืองในขั้วรัฐบาล ประกอบกับ “3 รัฐมนตรี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ และ ถาวร เสนเนียม รมช.กระทรวงคมนาคม แกนนำ กปปส. ที่ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกในคดีการชุมนุม ปี 2557 ส่งผลให้ ครม. ประยุทธ์ 2/3 จึงต้อง “เขย่าใหญ่”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุให้ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกันเอง แต่ไม่ได้ระบุชัดว่า สามารถหารือข้ามพรรคได้หรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมปรับ ครม. เร็วที่สุดปลาย มี.ค.-ต้น เม.ย. นี้ โดยย้ำว่าจะใช้โควต้าตามเดิม

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา มีตั้งแต่ ยุบสภาฯ ลาออก และเบาที่สุดก็ คือ การปรับ ครม. ที่เป็นเหมือนเครื่องมือทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอ สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาล เพราะทำให้พรรคร่วมกลัวถูกเขี่ยออก ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็อาจมีลุ้นที่จะได้ขยับมาเป็นพรรครัฐบาล พร้อมย้ำ เจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของพรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นจุดแตกหักระหว่างพรรคร่วม กับ รัฐบาล

การแย่งชิงเก้าอี้ รมต. กับจุดยืนแก้ไข รธน. ของพรรคร่วมรัฐบาล

“แม้รัฐบาลนี้จะค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีเสียง ส.ส. เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องยอมรับว่า ระยะเวลาที่ นายกฯ ดำรงตำแหน่งมาก็ยาวนาน การเมืองก็ยังไม่นิ่ง ทางออกที่ดี คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ถ้าเรื่องนี้ไม่ผ่าน ส่วนตัวผมพร้อมแตกหัก”

สาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ปัจจัยที่ทำให้การเมืองขั้วรัฐบาลกำลังฝุ่นตลบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีคนเสนอตัวเข้ามาสู่ตำแหน่งบริหาร ตำแหน่งที่นักการเมืองใฝ่ฝัน เพียงแต่ว่าการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของแต่ละพรรค มีความต่างกัน

สาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า พรรคยังคงได้โควต้า 7 ที่นั่งเท่าเดิม พร้อมย้ำที่มาของฝ่ายบริหารของพรรค คัดสรรจากคุณภาพของนักการเมือง คำนึงถึงระเบียบข้อบังคับ ซึ่งเป็นกลไกในพรรคที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ส่วนข้อสังเกตที่ว่าการที่พรรคพลังประชารัฐส่งตัวแทนลงแข่ง เพื่อลดจำนวนของพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์หรือไม่ ส่วนตัวมองว่ามีน้ำหนักน้อย เพราะหากคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ 7-1 ตอนนี้พรรคเหลือ 49-50 คน ก็ยังได้โควต้าอยู่ที่  7 คนเท่าเดิม แพ้ไม่เยอะ มีแรงสนับสนุนจาก ส.ส. ในพื้นที่ อันนี้เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่ส่งเข้าแข่งขันได้

ขณะที่บรรยากาศของการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีทั้งตัวแทนของ พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคน้องใหม่อย่างพรรคกล้า ส่วนตัว รมช.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่กังวลหากต้องพ่ายแพ้ ทั้งที่เป็นพรรคฐานเสียงเดิม ระบุ พร้อมจะแข่งขันกับใครก็ได้ภายใต้กติกาที่ถูกต้อง ควบคุมโดย กกต. พร้อมยืนยัน การซื้อเสียง หาผลประโยชน์ จากการจ่ายเงิน นำมาสู่การถอนทุนที่ทำให้การเมืองบิดเบี้ยวเสมอ พร้อมย้ำจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตนไม่เคยคิดอยู่ครบวาระ แม้ว่ารัฐบาลค่อนข้างมีเสียง มีเสถียรภาพ พร้อมยอมรับการเมืองไม่นิ่ง แม้ผู้คุมอำนาจจะพยายามสงวนท่าที แต่ถ้าเราดูภาพรวมสถานการณ์ทางการเมืองจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ ทุกแง่มุม และย้ำว่า “ประชาชนและทุกคนต้องช่วยกัน 250 เสียง ส.ว. ต้องตัดให้ได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นธรรม”

ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การแก้ไข รัฐธรรมนูญวาระ 3 รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขหรือไม่? ตรงนี้สำคัญเพราะอาจจะนำมาสู่จุดแตกหัก เพราะหากถูกปัดตกโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็น “หมากชอบกล” ในการปรับแก้รัฐธรรมนูญในวาระนี้ก็ได้ พร้อมเสนอทางออกที่ดีที่สุด แนะให้ประชาชนตัดสินใจ ทำประชามติ ให้จบลงอย่างสันติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเสมอกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งหมายรวมไปถึงบรรยากาศทางการเมืองนอกสภาฯ ด้วย

เลือกตั้งซ่อม จะดุเดือดแค่ไหน

ส่วนศึกเลือกตั้งซ่อมนั้นสำคัญ เพราะรอบนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และกรณ์ จาติกวณิช ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงที่นครศรีธรรมราช ด้วยตัวเอง

กรณ์ จาติกวณิช ในฐานะหัวหน้าพรรคน้องใหม่ อย่าง พรรคกล้า ที่ต้องลงสู้ศึกในถิ่นบ้านเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะลงแข่งเป็นครั้งแรก แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีแรงกดดันเพราะได้กระแสตอบรับที่ดีไม่น้อย หัวหน้าพรรคเผยวลีเด็ด สนามท้องถิ่นรอบนี้ คือ พรรคกล้าจะ “แปลกระแสให้เป็นคะแนน

“การเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ สัมผัสได้ว่าพี่น้องประชาชนอยากเห็นการเมืองใหม่ ๆ เพราะอยู่ภายใต้ระบบการเมืองเดิมมานาน… ที่ผ่านมาเหมือนขาดตัวเลือก พรรครัฐบาลไม่แข่งกันเอง แต่เวลานี้สู้กันหนัก คนพร้อมต้อนรับและให้กำลังใจ แปลกระแสให้เป็นคะแนน”

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

กรณ์ จาติกวณิช ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านคะแนนไม่มาก จึงมองว่าคู่แข่งคือพลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ แต่ตนไม่หนักใจ แม้ประชาธิปัตย์จะครองพื้นที่มานาน เพราะการเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ สัมผัสได้ว่าพี่น้องประชาชนอยากเห็นการเมืองดีขึ้น การเมืองใหม่ ๆ เพราะอยู่ภายใต้ระบบการเมืองเดิมมานาน  อยู่มา 1 สัปดาห์ พบว่าพี่น้องยังขาดโอกาส และขาดการพัฒนาอย่างมาก ชาวเมืองนครฯ อยู่นอกเขตตัวเองเยอะมาก เพราะบ้านตัวเองยังขาดโอกาส เราอยากกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร ให้ความสนใจมากขึ้น ให้ได้มีตัวเลือก ที่ผ่านมาเหมือนขาดตัวเลือก พรรครัฐบาลไม่แข่งกันเอง แต่เวลานี้สู้กันหนัก ทั้ง ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ กระแสดีมาก คนพร้อมต้อนรับและให้กำลังใจ “แปลกระแสให้เป็นคะแนน” พร้อมย้ำเลือกตั้งซ่อมที่เหลือ พรรคกล้าพร้อมลงแข่งอีกแน่นอน และยังตั้งใจลงสมัคร ผู้ว่า กทม. ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานของพรรคอีกด้วย

“ชื่อที่ปรากฏเกี่ยวกับโควต้ารัฐมนตรี ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ มีเสียงข้างมาก เป็นโอกาส ลุงตู่ ที่จะทำให้เป็น ครม. แบบใหม่ ไม่อิงอำนาจการเมือง และเป็นความหวังให้พี่น้องประชาชน…”

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

หัวหน้าพรรคกล้าทิ้งท้าย แก้ปัญหาการเมือง ควรปรับ ครม. เป็นอันดับแรก เพราะประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง การแก่งแย่งตำแหน่งของแต่ละพรรค โดยเฉพาะการคัดสรรผู้มีความรู้จริงมาทำหน้าที่ แต่ชื่อที่ปรากฏเกี่ยวกับโควต้าในเวลานี้ กลับมาจากอำนาจทางการเมือง ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง เพราะมีอำนาจอยู่ในมือเสียงข้างมาก เป็นโอกาสที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะปรับ ครม. ใหม่ แบบไม่มีอิงอำนาจการเมือง และเป็นความหวังให้พี่น้องประชาชน


ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สาธิต ปิตุเตชะ และกรณ์ จาติกวณิช ร่วมวิเคราะห์โฉมหน้า ครม.ประยุทธ์ 2/3 พร้อมจับตาเลือกตั้งซ่อมท้องถิ่น ใน Active Talk EP.11 “ปรับ ครม. เดิมพันประเทศไทย #เหล้าเก่าในขวดเดิม” (2 มี.ค. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน