นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ของแพงขึ้น 5.73% คนจนกระทบหนัก ค่าครองชีพสูงรายได้ต่ำ

เวทีเสวนาเสนอเพิ่มรายได้แรงงานยั่งยืนมุ่งหน้าสู่การผลิตที่มีคุณภาพสูง ผ่านนวัตกรรม ลดการผูกขาดของกลุ่มนายทุน อ.แล ย้ำแรงงานไม่ใช่วัตถุดิบ ต้องเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำที่ช่วยค้ำจุนความเป็นมนุษย์ของแรงงาน

วันนี้(27 เม.ย. 65) คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีเสวนา แนวทางการยกระดับอัตราค่าจ้างแรงงานเพื่อสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า โดยมี สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน เป็นตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านการอภิปรายและเสวนาเรื่อง “ก้าวต่อไปในการแก้ปัญหาค่าครองชีพและยกกระดับค่าจ้างสูง”

รศ.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ของแพงขึ้น 5.73% เมื่อเทียบกับ เมื่อเมษายนปีที่แล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4% ในปีนี้ โดยครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้มาก เนื่องจากสินค้าที่ผู้มีรายได้น้อยต้องจ่ายมีราคาสูงว่า และค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น หมายความว่า อำนาจซื้อน้อยลงเพราะเงินเล็กกว่าของ 1.3% ในขณะที่คนรวยมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.7% อีกทั้ง ที่ผ่านมารัฐพยายามควบคุมต้นทุน กำหนดราคาสินค้าต่าง ๆ ตรึงราคาสินค้าไว้ หรือสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ แต่ประโยชน์ไม่ตกมาถึงแรงงาน ภาครัฐอาจจะอุดหนุนค่าครองชีพ ซึ่งอาจจะแค่เพียงชั่วคราว ไม่ได้มีผลระยะยาวที่จะช่วยทำให้เรามีศักยภาพในการจ่ายได้มากขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี

“การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการมุ่งสู่ผู้ผลิตที่มีคุณภาพสูง ผ่านนวัตกรรมการผลิต เพื่อให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น มีการศึกษาที่มีคุณภาพให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น ให้โอกาสเท่าเทียม ลดการผูกขาดของกลุ่มนายทุน สนับสนุนการรวมกลุ่ม เช่น สหภาพ สหพันธ์แรงงาน เพื่อผลักดันนโยบายที่เป็นธรรม ทุกคนมีสวัสดิการขั้นต่ำทางสังคม ประกันรายได้ให้แรงงานอยู่ได้ หากสร้างระบบเศรษฐกิจขั้นสูงไม่ได้ก็ต้องจัดเป็นระบบอุดหนุนค่าครองชีพแทน”

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ตั้งคำถามว่า แรงงานคือพลังงานชนิดหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จได้ แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต ถ้าจะให้การผลิตได้กำไร ต้องควบคุมต้นทุนนี้ใช่หรือไม่? ประเทศที่เหมาะกับการลงทุน คือประเทศค่าแรงถูกใช่หรือไม่? ค่าแรงถูกคือเรื่องที่ดีสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ แต่บังเอิญว่าแรงงานไม่ใช่วัตถุดิบ แรงงานคือคน จึงต้องเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำที่ช่วยให้แรงงานมีชีวิตอยู่ได้ค้ำจุนความเป็นมนุษย์ของแรงงาน ประเด็นสำคัญคือเมื่อไหร่นักธุรกิจจะเปลี่ยนมุมมองทำให้แรงงานได้ความเป็นมนุษย์คืนมาจากระบบการผลิตทุนนิยม

เกณฑ์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมาจากเรื่องของการเมือง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับตามเงินเฟ้อ หรือการปรับให้นายจ้างอยู่ได้ เมื่อมีเกณฑ์ที่ไม่แน่นอนแปลว่าไม่มีเกณฑ์ ในที่สุดก็ต้องต่อรองและสู่กระบวนการทางการเมือง ทำให้เกิดองค์กรจัดตั้งของนายจ้างลูกจ้างเข้ามาต่อรอง แต่ตราบใดที่ลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรอง ยังไงก็ไม่มีทางได้

“เราต้องกลับไปทบทวนว่ากระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เกณฑ์กำหนด หรือแม้แต่นิยามที่ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่นายจ้างมีปัญญาจ่ายต้องเปลี่ยนไปคิดว่าเป็นค่าจ้างที่ลูกจ้างจะอยู่ได้หรือเปล่า? ปัญหาทั้งหลายมันเริ่มมาจากนิยามของแรงงาน คำว่าค่าจ้างอย่างเดียวมองกันตรงกันข้าม ต้องทำให้ชัดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึงค่าการดำรงชีพ เกณฑ์ต้องเอาให้ชัด กระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องกลับไปคิดถึงองค์กรไตรภาคีที่จะชี้ขาด ควรหรือไม่ที่จะมีอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง“

ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า รัฐบาลง้อนายทุนให้มาลงทุน กลัวไม่มีใครมาลงทุนในประเทศไทย จึงต้องลดต้นทุนเพื่อแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกร้องอย่างไรก็ไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลกลัว รัฐบาลจึงต้องกล้า ๆ เหมือนประเทศจีน ที่เปิดประเทศให้มีการเข้าไปลงทุน ค่าจ้างต่ำแต่มีเงื่อนไขว่าถ้ายกเลิกการผลิตห้ามนำต้นทุนกลับไป เช่น ความรู้ด้านการผลิตต่างๆ เมื่อแรงงานปฏิวัติได้ จีนก็ได้ต้นทุนการผลิตทั้งหมด

“ประเทศไทย แรงงานเป็นผู้มีฝีมือที่ดีที่สุด ผมว่าตอนนี้จะชนะญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ค่ายรถยนต์ถึงมาอยู่ในเมืองไทย ถ้าเราขอเพิ่มค่าแรงนายทุนก็ตัดต้นทุนอื่นได้ แล้วเอามาเฉลี่ยเป็นค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนมาก แต่รัฐบาลมัวแต่กลัว ว่าเขาจะไปลงทุนต่างประเทศ เขาไม่ไปหรอก เพราะมีแต่สงคราม ตอนนี้คือโอกาสที่เราจะได้ปรับขึ้นราคาแรงงานขั้นต่ำ”

รองประธาน คสรท. ฝากย้ำไปถึงพี่น้องแรงงานว่า “วันนี้ถ้าเราพูดเป็นเสียงเดียวกัน เชื่อว่ารัฐบาลจะทำตาม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้