‘ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์’ ระบุ อัตราผ่าคลอดสูงถึง 40% เหตุความเชื่อฤกษ์ยาม – กลัวความเจ็บปวด ขณะที่ WHO แนะไม่ควรมีสัดส่วนผ่าคลอดเกิน 15% ชี้ผลวิจัย ยัน ผ่าคลอดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคลอดธรรมชาติ คาดสัดส่วดหญิงไทยผ่าคลอด อาจพุ่งถึง 60% ในปี 2573
วันนี้ (29 ต.ค. 67) มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation) หรือ HITAP จัดการประชุมเพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการวิจัย “เพิ่มประสิทธิภาพระบบการรักษาพยาบาลในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการหัตถการหรือมาตรการที่อาจมีคุณค่าต่ำ (low-value care) ในประเทศไทย”
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้การผ่าคลอดไม่เกิน 15% แต่ในประเทศไทย อัตราการผ่าคลอด สูงถึง 40% ทำให้ไทย เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ และ จีน
ส่วนประเทศที่มีการผ่าคลอดสูงที่สุดในโลกคือ บราซิล และเม็กซิโก ขณะที่ประเทศในกลุ่มตะวันตก มีอัตราผ่าคลอดเฉลี่ยเพียง 10% ญี่ปุ่นเป็นประเทศในเอเชีย ที่รักษาอัตราการผ่าคลอดไว้ต่ำกว่า 20% เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมการคลอดแบบธรรมชาติ
ศ.นพ.ภิเศก บอกด้วยว่า สาเหตุหลักที่หญิงไทยเลือกผ่าคลอด มาจากความต้องการให้ลูกคลอดตามฤกษ์ ความกลัวเจ็บ หรือเพราะเวลารัดตัว รวมถึงความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน ว่า การผ่าคลอดปลอดภัยกว่าการคลอดธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในกลุ่มหญิงชาวเอเชียจำนวน 300,000 คน เมื่อ 20 ปีก่อน พบว่า การผ่าคลอดส่งผลลัพธ์แย่กว่าการคลอดธรรมชาติ มีโอกาสเสียเลือดมากกว่าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากการผ่าตัด อีกทั้งยังต้องใช้ยาระงับความรู้สึกซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน
สำหรับทารกที่เกิดจากการผ่าคลอด มักมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจไม่ปกติ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต และหากแม่ต้องได้รับยาสลบ เด็กจะมีโอกาสได้รับนมแม่ช้าลง
นอกจากนี้ แม่ที่เคยผ่านการผ่าคลอดอาจมีแผลที่มดลูก ซึ่งหากการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปรกฝังตัวในบริเวณแผลเดิม อาจเกิดการตกเลือดมากในขณะคลอด
แม้ว่าประเทศไทยจะรณรงค์ลดการผ่าคลอดมาอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการผ่าคลอดยังคงสูง โดยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อยู่ที่ 60% และหากไม่มีการดำเนินการอย่างเข้มงวด คาดว่าอัตราการผ่าคลอดในไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60% ภายในปี 2573
ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ยังย้ำถึงความจำเป็นในการวิจัยเพื่อลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็น โดยได้เริ่มโครงการนำร่องใน 8 โรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พร้อมทั้งเสนอว่า ไม่ควรอนุญาตการฝากครรภ์พิเศษในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อลดอัตราการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็น