ระดมสมอง จัดการระบบสุขภาพท่ามกลางทรัพยากรจำกัด

ครั้งแรกไทยเจ้าภาพงาน “Priorities 2024 Conference” ระดมนักวิจัยสาธารณสุขทั่วโลก เสนอไอเดีย นวัตกรรม จัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมมือกับ International Society for Priorities in Health หรือ ISPH เครือข่ายของนักวิจัยบุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบายที่ทำงานด้านการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ จัดงาน Priorities 2024 Conference งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (Priority Setting) ครั้งที่ 14 เป็นครั้งแรกในภาคพื้นทวีปเอเชีย  

โจเซฟ มิลลัม ประธาน ISPH กล่าวว่า การตัดสินใจที่เหมาะสมในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ ต้องตอบคำถามยาก ๆ ทั้งในเชิงแนวคิดและเชิงวิชาการ ใช้ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพ ต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางการแพทย์ และต้องการความเข้าใจในแง่มุมด้านการเมืองของนโยบายสุขภาพ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ บอกว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายศึกษาว่าการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ระบบสาธารณสุขพัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็ง สามารถทนต่อความท้าทายและอุปสรรคที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก โดยมีนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายมากประสบการณ์กว่า 320 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย และบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อหลัก “Shaping the Future of Health Prioritization: Strategies for Sustainable Solutions” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจและสามารถต่อยอดการจัดลำดับความสำคัญสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพในอนาคต

ทั้งการใช้ข้อมูลจากสถานการณ์จริงและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดลำดับความสำคัญ การประเมินเทคโนโลยีในระยะพัฒนานวัตกรรม ความเป็นธรรมและจริยธรรมในการจัดลำดับความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม  

งานประชุมวิชาการนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอและเข้าชิงผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการนำเสนอด้วยวาจา และโปสเตอร์ เช่น ยาชิก้า ชุก จากประเทศอินเดีย นำเสนอในหัวข้อ “การศึกษาเพดานความเต็มใจจ่ายเพื่อสนับสนุนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในอินเดีย” 

อัฟราม เด็นเบิร์ก จากประเทศแคนาดา นำเสนอหัวข้อ “เพิ่มการเข้าถึงการรักษาแม่นยำที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับเด็ก: กรอบการประเมินที่เหมาะสมกับเด็กเพื่อศึกษาประโยชน์หากให้เบิกจ่าย”  

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ไทยก้าวเข้าสู่ยุคที่สุขภาพมีความซับซ้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ยังมีความไม่เสมอภาคเกิดขึ้น ดังนั้นต้องหาวิธีการใหม่ในการจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ โดยอาจปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยจัดการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้คนจะได้รับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 

ปัจจุบัน บอร์ด สปสช. นำระบบ AI ตรวจสอบข้อมูลเบิกจ่ายการตรวจสอบเวชระเบียนเป็นกระบวนการขั้นตอนสำคัญ ให้กับหน่วยบริการได้รวดเร็ว ถูกต้อง ตรงเวลา

ทั้งนี้ การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ (Priority Setting) คือ กระบวนการจัดลำดับว่าสิ่งใดในระบบสุขภาพควรได้รับความสำคัญก่อนหลัง เพราะทรัพยากรทั้งในเชิงความเป็นจริง และเชิงเศรษฐศาสตร์มีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับจำนวนของผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละประเทศไม่สามารถให้บริการสุขภาพทุกอย่างแก่ผู้ป่วยทุกคนได้ในทันที การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพ จึงเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active