สธ. ประกาศแล้ว หลักเกณฑ์ให้คำปรึกษา ‘ทำแท้งปลอดภัย’

หน่วยบริการต้องให้คำแนะนำ ไม่ตีตรา ด้านเครือข่ายเตรียมจัดงาน “วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล” พรุ่งนี้ เร่งเพิ่มสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อสภาพปัญหา

วันนี้ (27 ก.ย.65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยได้เผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย. 65 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ

โดยประกาศฉบับนี้ ได้การวางแนวปฏิบัติ รองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้ หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

น.ส. ไตรศุลี กล่าวว่า ตามประกาศฯ ได้กำหนดขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือก โดยหญิงซึ่งมีอายุครรภ์ตามกำหนดสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก (ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป) เพื่อเข้ารับคำปรึกษาโดยจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยหากหน่วยบริการฯ ดำเนินการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์แล้ว

1.อายุครรภ์ เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้ดำเนินการให้คำปรึกษาทางเลือก

2.อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา

3.อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการฯ ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตามประกาศฯ ยังได้วางหลักการให้คำปรึกษา เช่น การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์ การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับ การรักษาความลับ ซึ่งให้การให้คำปรึกษาต้องดำเนินการโดยเร็วและคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

“การให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ถือเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการทำแท้งผิดกฎหมายด้วย”

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เคยถูกมองว่า ล่าช้ากว่าสถานการณ์ ในขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ก.พ.64 ตามมาด้วย ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เดือน ก.ค. ปีเดียวกัน ทำให้ที่ผ่านมาจำนวนของสถานบริการเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ไม่เพียงพอต่อสภาพปัญหา

ข้อมูลจากสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 พบว่าเฉพาะในกรุงเทพฯ มีผู้มารับบริการปรึกษาท้องไม่พร้อมและเลือกยุติการตั้งครรภ์ในระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 จำนวน 7,710 ราย (เฉลี่ย 643 คนต่อเดือน) ส่วนข้อมูลจากกลุ่มทำทางที่ให้การปรึกษาท้องไม่พร้อมเช่นกัน พบว่าได้มีการประสานส่งต่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ผู้รับบริการที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วง 1 มิถุนายน ถึง 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 277 คน (เฉลี่ย 28 คนต่อเดือน) เฉพาะสองหน่วยงานนี้ คิดเป็นจำนวนผู้รับบริการยุติการตั้งครรภ์กว่า 8,000 รายต่อปี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในความจริงจำนวนผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมและต้องการเลือกยุติการตั้งครรภ์น่าจะมีมากกว่านั้น และที่สำคัญคือไม่มีฐานข้อมูลใด ๆ ว่าผู้หญิงเหล่านั้นได้รับบริการที่ปลอดภัยหรือไม่

ปัจจุบันมีสถานบริการสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน 110 แห่ง ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่รับยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย เป็นโรงพยาบาลรัฐมากที่สุด คือ 68 แห่ง รองลงมา คือ คลินิกเอกชน 32 แห่ง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง แต่หลายแห่งยังให้บริการเป็นแบบมีเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเอง คือ แต่ละสถานบริการรับข้อบ่งชี้ตามกฎหมายทำแท้งไม่ครบทุกข้อ เช่น รับเฉพาะปัญหาสุขภาพกาย ตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์จากความผิดทางเพศ หรือข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมาจากตัดสินใจของบุคลากรแต่ละแห่งเพื่อลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากทัศนคติของบุคลากรในโรงพยาบาล รวมถึงการงดส่งต่อข้ามเขต กรณีสถานบริการไม่ครอบคลุม และมีเพียง 24 แห่งเท่านั้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยเกือบทั้งหมดเป็นคลินิก และมีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ไม่สะดวกใจที่จะประชาสัมพันธ์บริการ เนื่องจากไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลทำแท้ง

ขณะที่วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล 28 ก.ย.65 รณรงค์ภายใต้หัวข้อ Pro-voice 9 : Abortion Rights, Health Rights, Human Rights and Democracy คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ความก้าว หน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์: สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา (RSA)  และภาคีเครือข่ายรวม 73 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ในฐานะเขตสุขภาพที่มีผู้ขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุดในประเทศ


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active