รพ.สังกัดกรุงเทพฯ ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

เครือข่ายทำแท้งปลอดภัย ประกาศจุดยืน รพ.สังกัด กทม. ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย พบ 4 หมื่นคน เข้าไม่ถึงบริการ มากที่สุดใน กทม. สร้างภาระ ไม่เป็นไปตามสิทธิ สปสช.

วานนี้ (25 ก.ย.65) กลุ่มทำทางและเครือข่ายทำแท้งปลอดภัย จัดกิจกรรม “BANGKOK ABORTION กรุงเทพทำแท้ง ทำได้ ไม่ตายนะเธอ” เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล 28 ก.ย. ของทุกปี เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ด้วยการกำจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในด้านกฎหมาย ระบบบริการ และทัศนคติของสังคม ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการปรับแก้กฎหมายที่สำเร็จในหลายประเทศ เช่น อาเจนตินา เกาหลีใต้ เอกวาดอร์ ออสเตรเลีย และประเทศไทย

สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง กล่าวว่า แม้ไทยจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ  เอื้อประโยชน์ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย โดยหญิงตั้งครรภ์และแพทย์ไม่มีความผิดตามกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ก.พ. 64

แต่จนถึงทุกวันนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หลายคน เมื่อเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐยังถูกปฎิเสธ ไม่ส่งต่อ รวมถึงการปฎิบัติต่ออย่างไม่เป็นมิตร ซึ่งเกิดจากทัศนคติของผู้ให้บริการ ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐกว่า 1,300 แห่ง มีประมาณ 110 แห่งที่ขึ้นทะเบียนให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่ให้บริการจริงเพียง 80 กว่าแห่ง แบ่งเป็นเอกชน 30 แห่ง รัฐ 50 แห่ง เพราะยังกำหนดภายใต้เงื่อนของตัวเอง

หากนับจากจำนวนผู้ที่รับคำปรึกษาจากกลุ่มทำทางในช่วง 1 มิ.ย. 64 – 31 มี.ค.65 จำนวน 1,177 คน ในจำนวนนี้ 277 คน ระบุว่าอาศัยอยู่ใน กทม. สอดคล้องกับข้อมูลจากสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ซึ่งมีผู้มารับบริการปี 64 จำนวน 41,542 คน โดยในเดือน ต.ค. 64 – มี.ค. 65 มีผู้รับบริการจาก กทม. จำนวน 2,947 คน ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีผู้ขอรับบริการมากที่สุดในประเทศ และยังถือว่าเป็นเมืองหลวง ที่มีความเจริญที่สุด แต่กลับไม่สามารถให้บริการทำแท้งปลอดภัย ถูกกฎหมาย ตามสิทธิสุขภาพในโรงพยาบาลภายใต้สังกัด 11 แห่ง กับประชากรในพื้นที่ได้ ทั้งที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ผู้หญิงและแพทย์ที่ให้บริการจะไม่มีความผิดก็ตาม ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปทำแท้งกับสถานบริการที่ปลอดภัย มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม สร้างความไม่สบายใจเมื่อต้องระบุสาเหตุการลางาน หรือบางคนต้องพึ่งยาทำแท้งเถื่อน ทั้งที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาท

“กฎหมายเปลี่ยนแล้ว นโยบายก็มี เทคโนโลยีก็ทันสมัยกว่าเมื่อก่อนมาก แต่หมอที่ไม่ทำแท้งให้เขาอาจจะคิดว่าไม่ต้องการทำบาป แต่การที่คุณปิดประตูแล้วทำให้อายุครรภ์เพิ่มขึ้นไปจนเลยกำหนด หรือเขาต้องไปพึ่งยาทำแท้งเถื่อน มีอาการแทรกซ้อน ถึงขั้นเสียชีวิตแบบนี้ถามว่าบาปมั้ย สิ่งที่เราเรียกร้องคือ กทม. ต้องมีสถานที่ให้บริการอย่างน้อย 1 แห่ง สองคือข้อมูลต้องเปิดเผยว่าอยู่ที่ไหนบ้าง และสุดท้ายข้อมูลเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นที่ทั่วไปเพราะคนจะได้เข้าใจว่าท้องไม่พร้อมปรึกษาใครได้บ้าง”

สุพีชา เบาทิพย์ กลุ่มทำทาง

ขณะที่บรรยากาศภายในกิจกรรม มีเวทีเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในมิติการเมือง ศาสนา ระบบสุขภาพ เสียงสะท้อนจากหญิงที่ถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และเป็นมิตร โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง สปสช. ภาคประชาสังคม รวมถึงซุ้มกิจกรรมจากภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (RSA) โรงพยาบาลคลองตัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เฟมฟูฟู สมาคมพราว the pillow talk ฯลฯ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการคุยเรื่องเพศ ทำแท้ง และสิทธิมนุษยชน

ขณะที่วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล รณรงค์ภายใต้หัวข้อ Pro-voice 9 : Abortion Rights, Health Rights, Human Rights and Democracy คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ความก้าว หน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์: สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” ในวันที่ 28 ก.ย. 65

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active