ศึกซักฟอกเดือด ! กัญชาเสรีกระทบเด็ก เยาวชน

แพทย์เชี่ยวชาญฯ ชี้ ไทยไปไม่ถึงเป้าหมายกัญชาการแพทย์ แนะตั้งหน่วยตรวจสอบ-คุมเข้มกัญชาสังเคราะห์-ปฏิรูประบบการศึกษา-ยกเครื่องสาธารณสุข

หลังกัญชาปลดล็อกจากยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน เกิดปรากฎการณ์ต้นกัญชาโต คู่ขนานกับผลกระทบจากการใช้กัญชาทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ การอภิปรายในสภาฯ โหมโรง-วันแรก (19 ก.ค. 65) หนีไม้พ้นประเด็น กัญชาเสรี ความกังวลใหญ่พุ่งไปที่เรื่องผลกระทบเด็กและเยาวชน และตั้งคำถามใหญ่ว่า “ไทยไปถึงเป้าหมายการใช้กัญชาในทางการแพทย์จริง ๆ หรือไม่?”

“ผมยังเชื่อว่า ดึงกัญชาออกจากเด็กไม่ได้ วันนี้มันไปไกลถึงทุกครอบครัว ไกลขนาดที่ว่า รัฐบาลแจกกล้าทุกครอบครัว …เด็กเสพได้ เพียงแต่อย่าซื้อ เสพที่บ้านอย่าออกถนน ถ้าเป็นแบบที่คุณอนุทินพูดจะเกิดอะไรขึ้นครับ? ผู้ปกครองถึงวิตกว่า ท่านจะกันเด็กออกจากกัญชาได้หรือ? ผมจึงไม่ไว้วางใจ หากท่านอยู่ต่อไปกัญชาจะต้องเตลิดไปมากกว่านี้…”

สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย

การลุกขึ้นอภิปรายรอบนี้ สุทิน คลังแสง ยังยกประสบการณ์ตัวเอง เมื่อกินอาหารที่มีกัญชาผสมเข้าไปแล้วเกิดอาการ วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ โดยตั้งคำถามว่า แล้วมาตรการตรวจสอบปริมาณสาร THC-ไม่ให้เกินกำหนด ในชีวิตจริงจะทำได้แค่ไหน ที่สำคัญ คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก และเยาวชน ซึ่งมีทั้งได้รับกัญชาเข้าไปอย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ

เช่นเดียวกับ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.จากพรรคก้าวไกล เริ่มต้นอภิปราย ด้วยการเปิดคลิปเสียงที่ อนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศปลดล็อกกัญชา พร้อมระบุว่า การประกาศให้นำมาผสมอาหาร นำมาพี้กันนั้น ไม่ใช่การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างแน่นอน โดยหมอเก่ง-วาโย ย้ำจุดยืนพรรคก้าวไกลว่า สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ไม่คัดค้านการใช้นันทนาการ แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ให้ควบคุมอย่างเหมาะสม ดูแลสุขภาพคนสูบ และคนไม่สูบ

“เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายอนุทิน จงใจทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะสามารถแก้ได้ง่ายที่สุด คือ ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืดเวลาออกไป หรือยกเลิกกระบวนการแต่ไม่ทำ… เมื่อมีประกาศมาควบคุมกัญชา จึงเป็นประกาศปาหี่ แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว…”

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.จากพรรคก้าวไกล

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ คำว่ามีช่องว่างช่องโหว่ ในทางปฏิบัติมันไม่มี พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ก็มีการประชุมพิจารณากันทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ มีผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ข้าราชการประจำ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เชื่อว่าจะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะมี พ.ร.บ.ควบคุมกัญชง กัญชาออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกฎหมายที่ดีเพราะคณะกรรมการเหล่านั้นได้มีโอกาสรับฟัง

ท่านนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายให้นำกัญชา และกัญชง ไปศึกษาวิจัยและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเน้นประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่มีนอกเหนือจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปฏิบัติมาตรการใดที่นอกเหนือจากที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน”

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ความกังวลเรื่องกัญชาเสรี สอดคล้องกับ การเก็บข้อมูล ของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2565 พบ เด็ก และเยาวชน ได้รับผลกระทบจากกัญชาแล้ว 14 คน ผู้ชาย 12 คน / หญิง 2 คน มีตั้งแต่กลุ่มอายุน้อย 0-5 ปี จำนวน 2 คน และ ที่มากสุด คือช่วงอายุ 11-15 ปี มากถึง 7 คน ส่วนใหญ่ ได้รับกัญชา อย่างตั้งใจ 9 คน และไม่ตั้งใจ 5 คน

ขณะที่ นิด้าโพล-สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบมีประชาชน 18.8 ล้านคน เคยมีประสบการณ์ใช้กัญชา และในจำนวนนี้มากกว่า 50% ซื้อกัญชาจากตลาดมืด The Active สัมภาษณ์ประเด็นนี้ กับ รศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น มองว่า ไทยยังไปไม่ถึงเป้าหมายกัญชาทางการแพทย์ ทั้งในแง่ทัศนคติ บุคลาการ งานวิจัย กฎหมายที่ใช้ควบคุม รวมถึงสถานบริการที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชน มองหากัญชาเพื่อมารักษาโรคด้วยตัวเอง และอาจจะไม่ปลอดภัย ซ้ำร้ายหากกัญชาที่ซื้อหามาเป็นกัญชาสังเคราะห์ หรือมีสารเจือปน อาจส่งผลเสียถึงชีวิตได้เช่นกัน

แพทย์เชี่ยวชาญ ชี้ ไทยไปไม่ถึง-เป้าหมายของกัญชาทางการแพทย์

รศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ระบุ สาเหตุที่ไทยยังไปไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะสถานบริการไม่ครอบคลุม มีเพียง รพ. และสถานีอนามัยบางแห่ง ประชาชนต้องข้ามจังหวัดเข้ารับบริการ ไปถึงก็ติดเงื่อนไขหลายประกาศทำให้ไม่สามารถรับกัญชาไปรักษาได้

“พบสถิติว่า มีคนไข้ถึง 30% ที่ไปคลีนิกกัญชา และไม่ได้รับยาจากสถานพยาบาล เนื่องจากมีเงื่อนไขว่า แพทย์ต้องมีใบอบรมถึงจะสั่งได้ แพทย์ต้องมีสูตรการรักษาของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีหลักสูตรเหล่านี้ในโรงเรียน โรงเรียนแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาล เภสัชกรจำเป็นต้องมีคู่มือ คนไข้จำนวนมากจึงถูกปฎิเสธ จึงอาจไม่ช่วยทำให้อาการของโรคดีขึ้น เกิดปรากฎการณ์ซื้อหามาใช้เอง…

จากผลสำรวจนิด้าเร็ว ๆ นี้ พบว่า มีคนไข้ใช้กัญชาไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน นั่นหมายความว่ามีประชาชนที่หา กัญชา มารักษาตัวเอง… ซ้ำร้ายอาจจะมีกัญชาสังเคราะห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นผิดจังหวะ…”

รศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น

นพ.ปัตพงษ์ ย้ำว่า สิ่งที่เจอเมื่อเราอยู่ภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย คือ ประชาชนต้องไปแสวงหากัญชาใต้ดิน ซึ่งเป็นกัญชาที่ไม่รู้ที่มาที่ไป มีขายมากมายทางอินเทอร์เน็ต การปลดล็อกกัญชาให้ประชาชนสามารถ ปลูกเพื่อรักษา พึ่งพาตัวเองได้ ส่วนตัวมองว่ามีประโยชน์มากกว่า แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ผู้ใช้ต้องผ่านการพิจารณารับคำแนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ โดยเริ่มต้นจากการใช้ทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจึงจะปลอดภัยมากกว่า

สิ่งที่หมอเป็นห่วงมากที่สุด คือ การซื้อกัญชาปลอม หรือกัญชาสังเคราะห์ ที่มีผลกระทบทั้งทางร่างกาย สุขภาพจิต โดยภาพรวมจึงมองว่า การจะเปลี่ยนระบบสุขภาพ จากแบบเดิม เป็นการใช้กัญชาในทางการแพทย์ของไทยยังไปไม่สุด ส่วนตัวยังอยากเห็นหน่วยงานที่ออกมากำกับดูแล ห้ามขายกัญชาปลอม หรือกัญชาสังเคราะห์ เพราะเป็นภัย และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องมีหน่วยงานตรวจสอบว่ากัญชาที่วางขายเหล่านั้น เป็นกัญชาธรรมชาติ หรือมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย ดังนั้นต้องช่วยกันหลายฝ่าย เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง นโยบายการศึกษา และนโยบายด้านสารณสุข ให้มีวิชาการเรียนตั้งแต่ระดับการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และมีงานวิจัยที่พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมมีข้อมูลข้อเท็จจริง มากกว่าแค่ประสบการณ์ ข่าวลือที่ไม่เกิดประโยชน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน