ความเครียด เสี่ยง “คร่า” เด็กไทย 1.8 แสนคน แต่ยังขาดศูนย์ให้คำปรึกษา

ปี 2562 มีเยาวชนถึง 800 คน ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ สวนทางกับจำนวนศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตแบบครบวงจร ที่มีเพียง 11 แห่ง ในมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ แนะสร้างครูแนะแนวเสมือนนักจิตวิทยาแทรกในชั่วโมงเรียน

ความเครียด
School student is taking exam and writing answer in classroom for education test concept

“แม่ออกไปทำงานแต่เช้า เราต้องเรียนออนไลน์ไปด้วยเลี้ยงน้อง 2 คน ไปด้วย อยากกลับไปใช้ชีวิตที่หอเหมือนเดิม”

“เงิน กยศ. เดือนนี้ยังไม่เข้า กระทบกับการวางแผนชีวิตทั้งหมดเลย”

ส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนของเยาวชนส่วนหนึ่ง ที่ The Active พูดคุย รับฟังปัญหาในชีวิตของพวกเขา หลังกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธาณสุข พบตัวเลขเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี เกิน 1.8 แสนคน ขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563-30 ก.ย. 2564 แบ่งเป็น มีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% ขณะที่ปี 2562 มีเยาวชนถึง 800 คน ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ

ความเครียด

ไม่ง่ายที่จะบอกว่า เยาวชนกว่า 800 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุใด แต่ที่ชัดเจนคือโควิด-19 ทำให้อุณภูมิความเครียดสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิต นักศึกษา หากอ้างอิงตามสถิติย้อนหลังจากการขอเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา กับ KU Happy place center มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560 พบแนวโน้มสูงขึ้น จาก 24 คนในปี 2560 เป็น 898 คน ในปีที่ผ่านมา หรือ 37 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี

นิสิตในมหาวิทยาลัย สามารถนัดขอรับคำปรึกษาล่วงหน้า หรือ walk-in เข้ามาได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดภาวะเครียดรุนแรงก็สามารถขอรับคำปรึกษาได้ เช่น รู้สึกไม่สบายใจ เศร้า นอนไม่หลับ ด้านในมีพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือเพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเอง ถัดเข้ามาด้านในเป็นห้องสำหรับพูดคุย หรือขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพ  ที่ผ่านการอบรมด้านจิตวิทยา ซึ่งมีหลากหลายช่วงวัย เพื่อให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของนิสิต พร้อมมีระบบส่งต่อกรณีต้องรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ขณะที่ช่วงโควิด-19 เพิ่มการให้บริการในรูปแบบออนไลน์

ความเครียด
ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ม.เกษตรฯ

แม้ไม่ใช่งานด้านวิชาการ แต่ข้อมูลตัวเลขผู้รับบริการอาจสะท้อนถึงปัญหาระยะยาวต่อนิสิต ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ม.เกษตรศาสตร์ จึงนำเสนอไปถึงคณะผู้บริหาร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย รูปแบบการสอน และการออกประกาศเปิดมหาวิทยาลัยในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้มาตรการควบคุมโรค

“เด็กๆ เขาเสียเวลาไปมากพอสมควรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างปี 1 ผมเดินไปคุยกับน้องๆ บอกว่าไม่เคยเข้ามาในมหาวิทยาลัยเลย นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาเสียหายมาก เขาต้องได้รับการชดเชย เยียวยา ทั้งในด้านจิตใจ สังคม เราจึงได้เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ เข้ามาใช้พื้นที่ รวมถึงงานเกษตรแฟร์ 65  ก็พบว่าพวกเขามีความสุขขึ้น เรียนได้ตามปกติ ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่เราคิด”

ผศ.รัชด ชมภูนิช
ความเครียด จิตวิทยา

ตัวเลขนิสิตที่เข้ารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้น อีกด้านอาจสะท้อนถึงการเปิดใจ ยอมรับ ให้อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ที่ใกล้ตัวที่สุดเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัย และน่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการในอนาคต แต่ The Active พบว่า เฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ 82 แห่งทั่วประเทศเวลานี้ มีเพียง 11 แห่งเท่านั้น ที่มีศูนย์ดูแลสุขภาวะแบบครบวงจร และในความเป็นจริง 1 แห่งต่อ 1 มหาวิทยาลัยก็อาจไม่เพียงพอ

แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกสถาบันการศึกษา จะไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน เพราะทุกแห่งสามารถอุดช่องว่างด้วยการมีอาจารย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพที่มีอยู่เดิมเป็นผู้คอยรับฟังปัญหา หรือการจัดให้เรื่องของการรู้จักอารมณ์ตัวเอง หรือเรื่องของ “ความสุข” เข้าไปแทรกซึมอยู่ในรายวิชา

วิชาความสุข หลักสูตรที่ให้โอกาสสอบตกบ้างก็ได้

วิภาดา แหวนเพชร

วิชา ความสุข ความสัมพันธ์ ดูหนัง เป็นหนึ่งในวิชา General Education ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ทุกชั้นปี จำนวน 15 คาบ

วิภาดา แหวนเพชร หรือ ครูมะขวัญ อธิบายว่า หลักสูตรนี้คล้ายกับวิชาแนะแนวในระดับมัธยม แต่จะชัดขึ้นในเรื่องของการรู้สึกถึงแหล่งพลังงานชีวิต และการนำออกมาใช้เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะต้องเผชิญ  แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง

  1. เด็กต้องรู้ว่าความสามารถ ความแข็งแกร่ง พลังความดีงามของตัวเองคืออะไร
  2. เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพวกเขาจะแก้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างไร
  3. การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ความหมาย ตอบคำถามในตัวเองได้

โดยช่วงกลางเทอมจะมีแบบทดสอบที่เรียกว่า “Happy 7 Day” ให้นักศึกษาเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับการจัดการอารมณ์ของตัวเอง วันละ 15-30 นาที ซึ่งมีทั้งคนที่ค้นพบตัวเอง และคนที่ยังต้องหาคำตอบ

“สิ่งที่เด็กๆ ค้นพบแล้วเรารู้สึกว่ามันงดงามมาก คือ เด็กๆ บอกว่าความสุขเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ คนมักจะชอบคิดว่าต้องได้สิ่งนั้นก่อน สิ่งนี้ก่อนถึงจะมีความสุข แต่เด็กๆ เขาได้คำตอบของตัวเองแล้วว่า 5 นาทีของเขาแค่ได้มองต้นไม้ ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ  ก็มีความสุข และเขาต้องเติมสิ่งนี้เข้าไปในทุกๆ วัน  ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งที่ล้มแล้วจะตั้งขึ้นมาได้”

ครูมะขวัญ
ครูมะขวัญ

ครูมะขวัญ สะท้อนว่า ตลอดช่วงเวลา 4 ปีในการสอน สามารถช่วยเหลือเด็กที่กำลังจะฆ่าตัวตายได้ 7 คน โดยมีนักศึกษาที่เข้ามาเรียนวิชานี้ทั้งจากปัญหาโควิด-19 ปัญหาการเมือง สงคราม แม้เด็กจะไม่ได้มีปัญหาด้านสภาวะอารมณ์มาก่อน แต่ก็สังเกตได้ว่าหลายคนเป็นทุกข์กับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งกับพ่อแม่ การเรียน อาชีพ ความรัก 

ดังนั้นการทำให้สถาบันการศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย สามารถที่จะสนับสนุนสร้างครูที่เป็นครูแนะแนวดูแลเด็กให้มีความสุข นักจิตบำบัด หรือสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตร โดยเน้นย้ำว่าควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

แนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับมหาวิทยาลัยในสังกัด วางแนวทางสนับสนุน เพื่อให้ทั้งการศึกษาและจิตใจของเยาวชนไทยมีคุณภาพและแข็งแรงไปพร้อมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน