ภาคประชาชนยัน การมีส่วนร่วมทางสังคม ใช้ได้จริง ขอรัฐเข้าใจกลไกและสนับสนุน

มติ “การมีส่วนร่วมของสังคม” ได้รับการรับรองจากสมัชชาอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ ภาคประชาชน ชี้ว่า ทำแล้วได้ผลจริง อาจใช้เวลานาน แต่คุ้มค่า รัฐต้องเข้าใจกลไกและพร้อมสนับสนุน

หลังจากผลการรับรองมติ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being)“ ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 26 พ.ค.-1 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น

วันที่ 7 มิ.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้นำเสนอ “ผลการรับรองมติ” ดังกล่าว แก่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เพื่อรับทราบข้อมติ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน 13 เขต ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

โดยมตินี้เน้นย้ำเรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคม” หรือ “Social Participation” เป็นสำคัญ นั่นคือ การมีส่วนร่วมของสังคมในทุกขั้นตอนการตัดสินใจต่อกระบวนการทำนโยบายในทุกระดับ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแข็งของระบบสุขภาพไทยตั้งแต่ในยุคสมัยของการวางรากฐานระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทางสมัชชาอนามัยโลกและกลุ่มประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นว่า ประเทศที่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว และจัดการกับวิกฤตดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือประเทศที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งหนี่งในนั้นคือประเทศไทย

ณนุต มธุรพจน์ หัวหน้ากลุ่มงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชี้ว่า ที่ผ่านมา ทางสช.ได้ทำการขับเคลื่อนมติดังกล่าว ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2566 ได้มีการผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่เวทีสมัชชาอนามัยโลก จนกระทั่งได้รับการรับรองมติเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“ประเทศไทยร่วมกับประเทศสโลวาเนียเป็นแกนนำในการพัฒนาร่างมตินี้ เราได้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากประเทศสมาชิก รับฟังข้อห่วงใย รวมถึงอธิบายความเป็นมาและความสำคัญของมตินี้จนกระทั่งทุกถ้อยคำในมตินี้ได้รับการยอมรับจากทุกประเทศ”

ณนุต มธุรพจน์
หัวหน้ากลุ่มงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 

ด้าน กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หนึ่งในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในนามผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เขต 12 และนายกสมาคมผู้บริโภคสตูล เล่าถึงการใช้กระบวนการ “การมีส่วนร่วมทางสังคม” ในพื้นที่ของตนเองว่า ที่ผ่านมา มีการใช้กลไกดังกล่าวในการผลักดันให้เกิดนโยบายทางสุขภาพเช่นกัน

นั่นคือนโยบาย “ชาไม่ใส่สี” ในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยเริ่มจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และปัจจุบัน ได้พัฒนาจนกลายเป็นความร่วมมือระดับจังหวัดเป็นที่สำเร็จแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่า เรื่องต่าง ๆ จะรอให้เป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ภาคประชาชนต้องกระตือรือร้นและเข้ามาช่วยผลักดันด้วย

“ชาชักที่ใส่สีเข้ม เป็นที่นิยมและเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ แต่เราพบว่าสีที่ใช้มีสารก่อมะเร็ง เราจึงอยากรณรงค์ให้ร้านค้าเลิกใส่สีผสมชา เราเริ่มจากการคุยกับภาคประชาชนและท้องถิ่น ร่วมกันเก็บข้อมูลทางวิชาการและผลักดันจนเป็นมติของจังหวัดสตูล” 

“เราใช้เวลากว่า 3 ปี จนตอนนี้ สตูลกลายเป็นที่แรก ที่มีนโยบายเรื่อง ‘ชาไม่ใส่สี’ ในระดับจังหวัด มีการให้รางวัลและป้ายปลอดสีผสมชาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขแก่ร้านค้า รวมถึงสร้างความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย ผู้นำเข้าชารายใหญ่ให้แก่ไทย เพื่อขอให้ใช้สีผสมชาที่ไม่เกินค่ามาตรฐานและปลอดภัยต่อสุขภาพ จนตอนนี้ จังหวัดข้างเคียงอย่างปัตตานีก็นำโมเดลนี้ไปใช้ด้วย”

กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เขต 12

ในฐานะของจังหวัดที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขได้สำเร็จจากการมีส่วนร่วมทางสังคมของคนในชุมชน กัลยทรรศน์ ให้ความเห็นว่า วิธีดังกล่าวมีข้อดี เพราะคณะทำงานมีความใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้เห็นปัญหาและความต้องการที่แท้จริง และยังมีความคล่องตัวในการทำงานสูง

เนื่องจากไม่ต้องมีระเบียบ หรือเรื่องการของบประมาณซึ่งทำให้ยุ่งยากและสิ้นเปลืองเวลา แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะฝ่ายประชาชนไม่มีอำนาจในมือ ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐ ฉะนั้น หัวใจสำคัญ คือ หากในพื้นที่ไหนที่หน่วยงานท้องถิ่นมีความเข้าใจปัญหาและร่วมผลักดันด้วยก็จะมีโอกาสสำเร็จสูง

“จุดอ่อนของวิธีนี้ คือ ประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีประกาศิต แต่มีข้อดี คือ เราได้ใกล้ชิดปัญหา ทำงานได้คล่องตัว และไม่ยึดติดกับผลงาน ฉะนั้น ถ้าภาครัฐเอาด้วยก็จะยิ่งขับเคลื่อนได้ง่าย แต่ปัญหาคือ ผู้นำบางคนยังไม่เข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วม และยิ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็ยิ่งไม่เข้าใจปัญหา ทำให้ต้องใช้เวลา และบางครั้งประชาชนก็สื่อสารกับรัฐลำบาก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องทางวิชาการ”

ด้าน สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า ในสายตาของต่างประเทศแล้ว จุดเด่นของประเทศไทยคือการขับเคลื่อนนโยบายจากล่างขึ้นบน และมีการจัดการที่เป็นระบบระเบียบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัด คือ การขาดองค์ความรู้ และต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลสำเร็จ และหัวใจสำคัญที่สุดคือ การให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นและการร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ชาวต่างชาติมองว่า การขับเคลื่อนนโยบายของไทยมีความแตกต่าง และมีจุดเด่น เพราะเป็นนโยบายที่มาจากด้านล่าง มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ มีระเบียบในการบริหารจัดการที่ชัดเจน และทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว 

“แต่การขับเคลื่อนวิธีนี้ จำเป็นต้องอดทน ใช้เวลา และมีความรู้ รวมถึงภาคประชาชนต้องมีแรงจูงใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเด็นจนนำไปสู่การลงมือทำ รวมถึงทุกภาคส่วน ทั้งในเชิงบุคคล สังคม และกฎหมายต้องมีรองรับทั้ง 3 ส่วน และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน”

สัมพันธ์ ศิลปนาฎ
ประธานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 

หลังจากมติดังกล่าวได้รับการรับรองในเวทีสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ชี้แจงแผนการทำงานในอนาคตไว้ ดังนี้

  1. จะมีการจัดทำแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องการมีส่วนร่วมของสังคมในประเทศ โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
  2. จะจัดประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายนานาชาติ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติกาในการรขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องการมีส่วนร่วมของทางสังคมระหว่างประเทศในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. นี้

การที่มติของไทยได้รับการรับรองในระดับเวทีโลกในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนข้อพิสูจน์ถึงบทบาทและความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของไทยอีกครั้ง จึงเป็นทีน่าติดตามต่อไปว่า หลังจากนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับนโยบายในระดับประเทศและในระดับโลก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active