‘คาร์ซีท’ วัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนเพื่อลูก ที่พ่อแม่ควรรู้

องค์การอนามัยโลกระบุที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กสามารถลดการเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 70 ผลสำรวจพบผู้ปกครองยังมีความเข้าใจผิดหลายประเด็น แนะ ประชาสัมพันธ์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์มีคุณภาพราคาไม่แพง

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกต่างยอมรับว่า ที่นังนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท สามารถลดการเสียชีวิตของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้ถึงร้อยละ 70 และได้กำหนดให้ที่นั่งนิรภัยในเด็กเป็นเป้าหมายที่ 8 ใน 12 Global targets and indicators for road safety โดยภายในปี 2573 จะต้องมีอุปกรณ์รัดตรึงนิรภัย ในรถยนต์ที่ได้มาตรฐานสำหรับเด็กให้ได้ใกล้เคียง 100 % ​โดยประเมินในส่วนของประเทศไทยพบว่ายังมีการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กน้อยมาก

ในแต่ละปีจะมีเด็กที่โดยสารในรถยนต์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เกือบ 1,000 คน เกือบทั้งหมดไม่มีอุปกรณ์รัดตรึงขณะโดยสาร ทำให้เมื่อเกิดเหตุ เด็กจะกระเด็นกระดอน กระแทกกับที่นั่ง คอนโซล กระจก หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ เปิดเผยว่า ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ​ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กใน โรงพยาบาล 4 แห่ง คือโรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลขอนแก่น และสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพ มีข้อค้นพบดังนี้

  1. พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และยังไม่ตระหนักว่าการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กมีความจำเป็น โดยเชื่อว่า การอุ้มเด็กให้นั่งบนตักของผู้ใหญ่น่าจะปลอดภัยดีอยู่แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เพียงแต่เด็กจะหลุดมือของผู้ใหญ่ ตัวของผู้ใหญ่เองก็จะกระเด็นจากแรงกระแทก และอาจกระแทกใส่เด็ก จนเด็กเสียชีวิตได้
  2. คำว่าเดินทางใกล้ ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้
  3. ​รู้สึกกว่ามีความยุ่งยากในการติดตั้ง
  4. ​ต้องเปลี่ยนขนาดเมื่อเด็กโตขึ้น
  5. กลัวเด็กจะร้อนไม่สบาย ร้องกวน เมื่อต้องเดินทางไกล
  6. มีเด็กและสมาชิกในบ้านหลายคนทำให้ไม่มีพื้นที่จะติดตั้งที่นั่งนิรภัย
  7. มีราคาแพง

ทั้งนี้ การที่จะให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการตามมาตรการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย จำเป็นต้องมีการเตรียมการ เพื่อรองรับมาตรการเหล่านี้ โดยมีข้อเสนอดังนี้

  1. ด้านการประชาสัมพันธ์ จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กอย่างกว้างขวาง ผ่านสื่อทุกแขนง รวมถึงการแจกเอกสารแผนพับ โปสเตอร์ต่างๆ ที่ประชาชนเข้าใจง่ายสะดุดตา เกิดความจำที่ดีและเกิดความต้องการหรือเห็นความสำคัญในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก
  2. ด้านอุปกรณ์ที่นั่งนิรภัยในเด็ก รัฐบาลควรให้การสนับสนุนให้มีการลดราคาที่นั่งนิรภัย สำหรับเด็กให้ถูก ลงโดยปรับลดภาษีนำเข้า ซึ่งราคาที่เหมาะสมในการที่จะซื้อได้ควรอยู่ในช่วงประมาณ 3,000- 5,000 บาท แต่ต้องได้คุณภาพและได้มาตรฐาน เช่นบริษัทขายรถยนต์ถ้าซื้อรถยนต์ ควรจะมีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นของแถมให้เลือก และบริษัทต้องให้ความรู้ในการใช้และการติดตั้งให้กับลูกค้าด้วย หรือห้างร้านที่จำหน่ายที่นั่งนิรภัยควรมีส่วนใ้ห้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก
  3. ​กระทรวงคมนาคม ควรบรรจุเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเข้าในการสอบใบอนุญาตขับขี่ รถของกรมการขนส่งทางบกด้วย
  4. กระทรวงสาธารณสุข ควรจะมีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลพัฒนากระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้กับมารดาที่มาฝากครรภ์ และมารดาหลังคลอด ให้เห็นความสำคัญของการใช้ที่นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กผ่านทางสือหลายรูปแบบ เช่นทางไลน์ Facebook วีดีโอแนะนำที่คลินิกฝากครรภ์ มารดาหลังคลอดก่อนกลับบ้านคลินิก well Baby และควรจัดหา หรือรับบริจาคที่นั่งนิรภัยในเด็กทุกขนาด ที่มีราคาถูก ได้ มารตฐาน มาจำหน่าย ให้เช่า ให้ยืม ให้เปลี่ยนขนาดได้ โดยมีเป้าหมายว่า เด็กหลังคลอดทุกคนที่จะกลับบ้านโดยรถยนต์ จะต้องใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กในวันที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล
  5. สถานรับเลี้ยงเด็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองท้อง ควรมีนโยบายและสนับสนุนให้สถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งของภาครัฐเอกชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ร่วมดำเนินการในการจัดหาที่นั่งนิรภัยในเด็กมาให้ผู้ปกครองใช้
  6. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ควรเตรียมการในการกำกับและติดตามประเมินผล ทั้งด้านการปฏิบัติตามมาตรการที่กฎหมายกำหนดและผลกระทบที่เกิดขึ้น

พญ.ศิริตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในรอบ 5 ปี จาก 2560-2564 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ประมาณ 1 แสนคน โดยมีเด็ก 0-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1,155 คน โดย 221 คนเป็นผู้โดยสารที่เสียชีวิตในขณะที่โดยสารรถยนต์ ​ซึ่งเด็ก 0- 6 ปีใช้คาร์ซีทมีพียงร้อยละ 3.4 ทั้ง ๆ ที่ เด็กเล็กมีความจำเป็นที่ต้องใช้คาร์ซีทมากเพราะลดการเสียชีวิตและพิการได้

“กรณีที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มไว้หรือกอดไว้แนบอกแต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุมันเหมือนเสี้ยววินาทีมือเราจะหลุดแล้วเด็กจะพุ่งออกมา หรือถ้าคาดอันเดียวกันกับพ่อแม่ถ้ามีแรงกระแทกกลายเป็นเด็กนั้นเป็นตัวรับแรงกระแทกแทนเรา​ อันนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการมีอุปกรณ์นิรภัยหรือคาร์ซีทจึงป็นสิ่งจำเป็น”

จากข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ พบชัดเจนว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ที่ไม่คาด ผู้ที่ไม่ใส่อุปกรณ์นิรภัยมีอัตราการตายสูงถึง 300 % ก็คือ 3 เท่า ถ้าใช้ก็จะทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง เพราะหากบาดเจ็บและกระเด็นออกมาเสี่ยงพิการสูง ซึ่งความพิการถือเป็นเรื่องทรมานจิตใจพ่อแม่และเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ

สำหรับการเลือกคาร์ซีท ก็มีความสำคัญ เพราะเด็กอายุ 0-6 ปี ​​ขนาดโครงสร้างร่างกาย คอยังไม่แข็ง หรือกระดูกที่ยังไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถที่จะคาดเข็มขัดนิรภัยแบบผู้ใหญ่ได้ ถ้าไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยบางอย่าง มันจะทำให้เข็มขัดไปรัดไม่ถูกที่คืออาจไปรัดที่ตรงคอหรือช่องท้อง เมื่อเกิดการกระแทกก็จะทำให้เกิดอันตรายขึ้น

“สำหรับเทคนิคให้ลูกนั่งคาร์ซีท ควรเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดเลย และต้องฝึกตั้งแต่ยังเล็กถ้าเป็นเด็กแรกเกิด เพื่อให้เกิดความเคยชิน พ่อแม่ต้องใจแข็งนิดหนึ่งเพื่อความปลอดภัย ถ้ามีคนนั่งเป็นเพื่อนก็หาอุปกรณ์ของเล่นที่ปลอดภัยหลอกล่อ จะช่วยได้ แต่ถ้าเรื่มเป็นเด็กโตเริ่มรู้ความแล้ว อาจใช้ความพูดเชิงบวก เพราะเด็ก ๆเขาชอบออกไปเที่ยวเล่น ให้เขารู้ว่าถ้าเขาได้นั่งเขาจะได้ออกจากบ้านไปสนุกด้วยกันเป็นคำพูดเชิงบวกแทน และก็บอกว่านี่เป็นที่พิเศษสำหรับเขาเขาจะให้ความร่วมมือในการนั่งมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วควรเริ่มจากที่ตัวผู้ปกครอง ควรมีความเข้าใจเพราะมันคือความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์