ประธานอนุฯ ศึกษางบฯ 68 ส่วนสำนักการแพทย์-สำนักอนามัย ชี้งบฯ ด้านสุขภาพดีเพิ่มขึ้น สมเหตุสมผล เหตุเน้นปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข สร้าง รพ.ประจำเขต แก้ปัญหาบริการปฐมภูมิ รับสังคมสูงวัย แต่ยังน้อยไป เตรียมสรุปรายงานผลศึกษา 26 ส.ค.นี้
วันนี้ (24 ส.ค.2567) หลังกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงประกาศเริ่มเดินหน้า “30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.” เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิที่ติดสติ๊กเกอร์ได้ทุกที่ ขณะมีการตั้งคำถามถึงความพร้อมหน่วยบริการปฐมภูมิ กทม. และความไม่เชื่อมั่นจากประชาชน
ขณะที่ปี 2568 นี้ เป็นปีที่กรุงเทพมหานคร โดยการบริหารของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้จัดงบประมาณเอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร
The Active คุยเรื่องงบประมาณด้านสุขภาพกับ เนติภูมิ มิ่งรุ่งจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม ประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2568 ของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เนติภูมิ กล่าวว่า ได้ดูแลการศึกษาเล่มงบประมาณทั้งหมด 5 เขต ได้แก่ เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง ส่วนเล่มสำนัก เป็นประธานดูงบฯ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทร์ ซึ่งการจัดงบประมาณของกรุงเทพมหานครในปีนี้แตกต่างจากทุกปี เมื่อก่อนคณะอนุกรรมการฯ ดูเพียงแค่ครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และลงไปดูพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ว่าพื้นที่ไหนมีการก่อสร้าง มีค่าที่ดิน ดูความคืบหน้าและความจำเป็น แต่ปีนี้ที่ประชุมของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต ลงความเห็นว่า ให้คณะอนุกรรมการตรวจทุกตัวอักษรทุกรายจ่าย ไม่ว่าจะเป็นงบฯดำเนินการหรืออะไรก็ตาม ค่าใช้สอย คือดูทุกรายละเอียดที่อยู่ในเล่ม เพื่อที่จะได้รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้และงบประมาณที่ขอมา มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และเพียงพอต่อการนำไปใช้พัฒนากรุงเทพมหานครหรือไม่ โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 15 วันนับรวมวันหยุดด้วย
งบประมาณ “ด้านสุขภาพดี” เพิ่มเกือบ 50%
เนติภูมิ อธิบายถึงงบฯ “ด้านสุขภาพดี” จากตัวเลขพบว่าเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มในเรื่องของค่าครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ แม้ว่าโรงพยาบาลจะมีขอมาหลายรายการ แต่บางโรงพยาบาลได้ไปเพียงแค่ 1-2 รายการเท่านั้น ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เรื่องของเครื่องมือมีความสำคัญ เพราะวิวัฒนาการของโรคมีความเปลี่ยนแปลง มองว่าการมีเครื่องมือที่ดีที่ตอบสนองต่อการรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้นนั้นมีความสำคัญ บางโรงพยาบาลเครื่องมือเก่า การทำงานก็จะไม่ได้เสถียรภาพเท่าที่ควร ตรงนี้เป็นส่วนที่ควรจะเพิ่มงบประมาณเข้ามา
ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข – สร้างโรงพยาบาลเขต
เนติภูมิ ชี้ว่า งบประมาณปี 2568 ให้น้ำหนักในการเพิ่มและปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากบางศูนย์เริ่มเก่า การให้บริการทำได้ไม่เต็มศักยภาพ รวมทั้งมีการสร้างโรงพยาบาลใหม่ที่เขตภาษีเจริญ และเขตสายไหม โดยคาดว่าจะตอบโจทย์ปัญหาระบบสาธารณสุขได้อย่างดี เนื่องจากในพื้นพื้นที่เขตที่พิจารณาให้มีการสร้างใหม่ ยังไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ดังนี้
- โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (ภาษีเจริญ) เป็นโรงพยาบาลขนาด 250 เตียง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนในพื้นที่ด้านฝั่งธนบุรีโดยใช้งบประมาณ 1,000 บ้านบาท ในปี 2568 ของบประมาณมาจำนวน 2 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการออกแบบ โดยการจ้างเอกชน คาดว่าแบบจะแล้วเสร็จ พ.ย. นี้
- โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสายไหม กรุงเทพมหานคร จัดตั้งโรงพยาบาลทั่วไป ขนาดเตียง 120 เตียง ใช้งบประมาณ 1,290 ล้านบาท โดยงบประมาณปีนี้ได้ขอ 2 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการออกแบบ โดยการจ้างเอกชน คาดว่าแบบจะแล้วเสร็จ พ.ย. นี้ เช่นกัน
“การออกแบบครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้ง จากเดิมจะให้สำนักการโยธาออกแบบ ซึ่งใช้เวลานาน โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ตั้งข้อสังเกตและเสนอว่า การจัดสร้างโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาออกแบบ เนื่องจากว่าโรงพยาบาลจะมีเครื่องเอ็กซเรย์ เอ็มอาร์ไอ ซีทีสแกน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จำเป็นต้องมีความเฉพาะของโครงสร้าง ความหนา ระบบปรับอากาศในการก่อสร้าง ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ ครั้งนี้กรุงเทพมหานครจึงใช้วิธีจัดจ้างคนภายนอกในการเขียนแบบ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเร็ว และคาดว่าในเดือนพฤศจิกายนปีนี้แบบจะเสร็จและจะเริ่มหาผู้รับจ้างก่อสร้างต่อไป”
เนติภูมิ มิ่งรุ่งจิราลัย
เนติภูมิ อธิบายเพิ่มว่า การก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ คำนึงถึงความจำเป็น และความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ อย่างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (ภาษีเจริญ) บริเวณใกล้เคียงที่จะได้ใช้มีทั้ง เขตบางแค เขตบางบอน เขตราษฎร์บูรณะ เขตจอมทอง เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตตลิ่งชัน ซึ่งเขตนั้นมีเฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุข ส่วนของโรงพยาบาลสายไหม ก็จะมีผู้ใช้บริการทั้งจากเขตสายไหม เขตบึงกุ่ม นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลลาดกระบังที่ใกล้จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ ส่วนโรงพยาบาลสิรินธรตอนนี้เต็มในสังกัดกรุงเทพโซนตะวันออกก็จะค่อนข้างไกล เชื่อว่าโรงพยาบาลสายไหมก็จะเป็นอีกจุดที่รองรับและช่วยได้เยอะ
“จริง ๆ แล้วผมอยู่ในคณะสามัญสาธารณสุข กทม. ด้วย ได้ศึกษาการที่เราจะมีโรงพยาบาลทุกเขต อาจจะทำได้ยากเพราะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ และเรื่องบุคลากร เรามองว่ากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น กับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง นั่นคือ การเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ที่เป็นระดับปฐมภูมิ ที่ไม่ได้มีอาการมากไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ ได้วางแผน จนเกิดมาเป็น 6 ศูนย์บริการสาธารณสุขนำร่อง ที่จะมีเตียงสังเกตอาการ ให้ผู้ป่วยนอน เรามองว่าควรจะเพิ่มในเรื่องของการรักษาอย่างอื่นด้วย บางส่วนอาจจะไม่มีเรื่องของกายภาพบำบัด บางส่วนอาจจะไม่มีเรื่องของทันตกรรม หรือการให้คำปรึกษาด้านจิตเวช หากมีตรงนี้เสริมเข้าไปครบทั้ง 69 ศูนย์ ก็จะทำให้ความแออัดในโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐบาลหรือของกรุงเทพมหานครเองลดน้อยลง นั่นเป็นเหตุทำให้สำนักอนามัยปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อที่จะรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น”
เนติภูมิ มิ่งรุ่งจิราลัย
เนติภูมิ กล่าวว่า ปัญหาหลักที่เห็นชัดคือ บางส่วนบริการสาธารณสุขมีบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาต้องเดินทางไปไกลนอกพื้นที่ และต้องมีค่าใช้จ่าย ใช้เวลามากขึ้น ดังนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้บริหารเห็นความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพ ทางด้านกายภาพในการปรับปรุง การเปลี่ยนใหม่ บางศูนย์บริการสาธารณสุขจากเดิมที่เข้าไปแล้วคับแคบ ก็อยากจะทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นเหมือนคลินิกเอกชน มีครบทุกอย่างเมื่อชาวบ้านมาสิ่งที่ได้รับ คือ ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และทั้ง 69 ศูนย์ อยู่ใกล้กับชุมชนและหมู่บ้านทำให้เดินทางง่ายขึ้น
โดยมีโครงการศูนย์บริการสาธารณสุข ที่สำนักอนามัย ของบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ดังนี้
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารสุข 70 วังทองหลาง งบประมาณ 36.5 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 8 บุญรอด รุ่งเรือง งบประมาณ 25.2 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 35 หัวหมาก งบประมาณ 21 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ประชานิเวศน์ งบประมาณ 23.6 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ งบประมาณ 36 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา สาขาทรายกองดินใต้ (ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง) งบประมาณ 5.6 ล้านบาท
- โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค สาขาวิจิตราอนามัย (ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง) งบประมาณ 6 ล้านบาท
- ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข 12 จันทร์เที่ยง เนตรวิเศษ งบประมาณ 8.55 ล้านบาท
- งานติดตั้งกำแพงเสียงที่รั่วศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. (ประเวศ) งบประมาณ 18.83 ล้านบาท
สนับสนุนผลิตบุคลากรทางการแพทย์
เนติภูมิ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาที่พบจากข่าวของโรงพยาบาลสิรินธร ที่พยาบาลต้องทำงานหนักเกินเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาแนวทางแก้ไขข้อบังคับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน กก.) ในเรื่องของอัตรากำลังคนในการรับคนควรจะรับอย่างไร และเรื่องของค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ควรจะเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่อยากให้เกิด “ภาวะสมองไหล”
และอีกส่วนคือ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนเรื่องโครงการต่าง ๆ ซึ่งที่นี่มีผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์อย่างพยาบาลให้กับทางสังกัดกรุงเทพมหานครเช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้ 100 % เพราะปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่สูงเท่าเอกชน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีการปรับหลักสูตรในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง มีโครงการฝึกอบรมให้กับข้าราชการ กทม.และประชาชนทั่วไปที่สนใจมาดูแลเรื่องผู้สูง เพราะปัจจุบันประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้
มองงบฯ กทม. ด้านสุขภาพดี มากหรือน้อยเหมาะสมหรือไม่ ?
เนติภูมิ มองว่า น้อย เพราะศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ควรมีเรื่องเครื่องมือที่เพิ่มมากขึ้น มีการเพิ่มบุคลากร บางส่วนมีแพทย์ท่านเดียว เป็นทั้งผู้อำนวยการศูนย์และเป็นทั้งแพทย์ให้การรักษา รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่จะประจำศูนย์ อย่างน้อยขอให้เป็นลักษณะเวียน หรือจ้างแพทย์จากภายนอก เช่น ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นแพทย์เกษียณ และมีจิตอาสาอยากทำ หรือทำความตกลงกับมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ที่อยากพามาฝึก จะทำให้มีแพทย์และพยาบาลทั่วถึงทั้ง 69 ศูนย์ได้ง่ายขึ้น
“หากเป็นไปได้อยากให้มีการเพิ่มงบประมาณในด้าน สุขภาพมากขึ้น และต้องขึ้นทุกปี เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งควรที่จะต้องให้งบประมาณในส่วนนี้มากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นหน่วยคัดกรองไม่ให้ผู้ป่วย ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล”
เนติภูมิ มิ่งรุ่งจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม