เปิดงาน สัปดาห์ความสุขสากล 2024 ความสุขที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน

ชวนทำกิจกรรมค้นหาตัวเองผ่าน 8 เส้นทางแห่งความสุข อาทิ การทำงาน จิตอาสา ศิลปะ การสัมผัสธรรมชาติ การภาวนา ฯลฯ สะท้อน ‘ความสุข’ คือการรู้จักตัวเองและเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้าง

สสส.และภาคี ร่วมกันจัดงาน สัปดาห์ความสุขสากล 2024

วันนี้ (18 มี.ค.67) ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดแถลงข่าวงาน “สัปดาห์ความสุขสากล 2024 ภายใต้แนวคิด Happiness Connects : ความสุขที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน” ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม – 4 เมษายน 2567 

ภายในงานจะประกอบด้วยกิจกรรมฮีลใจภายใต้แนวคิด “8 เส้นทางแห่งความสุข” ได้แก่ ความสุขจากการทำงาน จิตอาสา การเรียนรู้ ศิลปะ การสัมผัสธรรมชาติ การเคลื่อนไหวร่างกาย ความสัมพันธ์ และการภาวนา รวมแล้วกว่า 50 รายการทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ผ่านการออกแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ความสุขประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา ชีวามิตร ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา peaceful death ศูนย์จินตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ก่อการครู มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) We Oneness กระบวนทัศน์ใหม่ สารคดี มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ และ Mindfulness in School

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การสหประชาติได้ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันความสุขสากล (International Day of Happiness)” เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสุขซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี จากข้อมูลรายงานความสุขโลกประจำปี 2566 พบว่า ฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีความสุขในโลก

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในขณะที่ไทยขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 60 ของโลกในปีนี้ (จากอันดับที่ 61 ในปีที่แล้ว) ในขณะที่ปีนี้ องค์การสหประชาชาติกำหนดธีมวันความสุขสากลคือ “Happier Together” ซึ่งสอดคล้องกับธีมของงานนี้นั่นคือ “Happiness Connects” โดยมีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ ความสุขที่พ้นไปจากตัวตน ความสุขที่อยากเห็นคนรอบข้างมมีความสุข หรือที่เรียกว่า “สุขภาวะทางปัญญา” และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมจะเริ่มหันมาพูดคุยกันมากขึ้นว่า “ชีวิตทีมีความหมายคืออะไร หรือมีสิ่งใดที่อยากฝากไว้บนโลกนี้ก่อนจากลา”

จากนั้นบนเวทีได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความสุขและการจัดการใจ แม้แต่ละคนจะให้ความเห็นต่างกัน แต่มีความสอดคล้องกันว่า ความสุขเป็นเรื่องส่วนบุคคลและไม่เหมือนกัน

ด้าน ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวถึงความสุขว่า แท้จริงแล้วความสุขมีได้หลายระดับ สำหรับบางคนอาจเป็นการได้ใช้เงินซื้อของที่ชอบ แต่บางครั้ง ความสุขก็หาได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลย แต่อาจเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่นหรือได้ทำสิ่งที่รัก สิ่งนี้คือความสุขที่ลุ่มลึก ประณีต โดยไม่ต้องใช้เงินทอง แต่ความสุขไม่เคยมีสูตรสำเร็จ สุข-ทุกข์ขึ้นอยู่กับมุมมองการใช้ชีวิต สำคัญคือ เมื่อเจอความทุกข์แล้วเรียนรู้อะไรต่างหาก

ใขณะที่ ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วม ธนาคารจิตอาสา กล่าวถึงในมุมมองของความสุขว่า แต่ละคนรู้อยู่แล้วว่าความสุขคืออะไรในความเข้าใจของตัวเอง แต่ระยะเวลาในการมีความสุขที่ยาวนานต่างหากที่แตกต่างกัน เคยมีการทดลองว่า เมื่อให้เงินคนในจำนวนที่เท่ากัน แต่ละคนเอาไปหาความสุขอย่างไร พบว่า คนที่ใช้จ่ายเงินไปกับการทำอาสาหรือช่วยเหลือผู้อื่นกลับมีความสุขในระยะยาวมากกว่าคนที่เอาเงินไปจับจ่ายซื้อของทั่วไป แต่ก่อนเราอาจต้องหาความสุขจากภายนอก แต่แท้จริงแล้ว เราต้องกลับมาเชื่อตัวเอง อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข สนใจ หรืออยากทำ อาจเริ่มต้นต้นหาจากความสุขทั้ง 8 เส้นทางนี้ก็ได

ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วม ธนาคารจิตอาสา

สุวิตา จรัญวงศ์ CEO & Co-founder, Tellscore เห็นด้วยว่าโซเชียล มีเดีย พรากความสุขไปจากคนยุคปัจจุบันมาก คนเจเนอเรชันนี้ต้องพบเจอกับความทุกข์หลายรูปแบบที่คนเจนก่อนไม่เคยเจอ ขอให้มองว่าโซเชียลมีเดีย คือเหรียญ 2 ด้าน ความสุขเป็นเรื่องที่เราต้องออกแบบเอง เริ่มจากดูแลจิตใจตัวเองก่อนแบบ inside out

ด้าน ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีย์กุล บอกว่า “ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรามีอะไร แต่ขึ้นกับว่าเรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่มีต่างหาก” ความสุขของแต่ละคนเปรียบเทียบกันไม่ได้ และอย่าตัดสินความสุขของใครเพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำสิ่งเดียวกันแล้วมีความสุข

ตอนนี้ในสังคมมีเรื่องที่เร่งให้เราต้องไปทำสิ่งนั้น ต้องไปกินสิ่งนี้ ต้องไปเที่ยวที่นั่น ที่นี่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ไม้บรรทัดที่จะมาวัดความสุขของทุกคนได้เหมือนกัน รวมถึงเรื่องความทุกข์ด้วย

“ตอนนี้เราอยู่กับโลกโซเชียลมีเดีย มากเกินไป การเห็นชีวิตดี ๆ ของคนอื่นทำให้เราเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ เราจะรู้สึกว่าพยายามเท่าไหร่ก็ไม่ดีพอเสียที ท้ายที่สุดเราด้อยค่าตัวเอง แต่อย่าลืมว่า ทุกคนมีทั้งด้านทุกข์ ด้านสุข มันมีสิ่งที่เรายังไม่รู้ภายใต้ชีวิตดี ๆ ของคนในโซเชียลมีเดียอีกมาก เหมือนที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ‘ความสุขคือความทุกข์ที่พอดีกับความอดทน’ ฉะนั้น ถ้าเราทนทุกข์นั้นได้ นั่นคือความสุข”

ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีย์กุล

ดีเจพี่อ้อย เสริมว่า อีกสิ่งที่สำคัญคือการรู้จักเหงาให้เป็น ตอนนี้เราใช้เวลากับโลกข้างนอกเยอะมากจนไม่รู้จักตัวเอง อยากลองหาว่าความสุขของตัวเองคืออะไร แล้วพาตัวเราไปหามัน หากหาไม่เจอให้ลอง “ฝันให้ใกล้ แล้วไปให้ได้” ก่อน ลองทำอะไรง่าย ๆ ใกล้ตัวที่เรามีความสุข แล้วค่อยเติบโตไปกับมัน บางทีความสุขของเราอาจจะเป็นแค่การไปเห็นทะเล หรือกินหมูกระทะก็ได้

สำหรับกิจกรรมฮีลใจทั้ง 5 ที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ ได้แก่ 1. บันทึกภาพความสุข “Real Life Real Image” 2. ฝากเวลาอาสากับ “ธนาคารจิตอาสา” 3. เซียมซีไขชีวิต 4. ระบายสีใจ & ไพ่ฤดูฝน 5. Happiness Aroma “กลิ่นกับความสุข”

กิจกรรมที่ 1 บันทึกภาพความสุข “Real Life Real Image” 

นำโดย  ธำรงรัตน์ บุญประยูร (ตุ่ย) ช่างภาพที่คอยบันทึกภาพ portrait ของผู้คนที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับพูดคุยถึงความสุข ความหมาย และการดำรงชีวิต ที่ชวนให้คนมาตระหนักถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเพื่อให้ใช้วันนี้ได้อย่างมีความสุขที่สุด

 บันทึกภาพความสุข “Real Life Real Image” โดย ตุ่ย – ธำรงรัตน์ บุญประยูร

กิจกรรมที่ 2 ฝากเวลาอาสากับ “ธนาคารจิตอาสา”

ธนาคารที่ไม่ได้มีฝากเงินทอง แต่เป็นการรับฝากเวลา เมื่อสมัครสมาชิกแล้ว แต่ละคนจะสามารถสะสมเวลาไว้ได้แล้วนำไปใช้ทำงานจิตอาสา เพราะเชื่อว่าการให้คือความสุขที่ยืนยาว

กิจกรรมที่ 3 : เซียมซีไขชีวิต 

กิจกรรมที่ชวนเขย่าเซียมซี หยิบคำทำนายที่กลายเป็นคำถามที่ชวนให้กลับมาทบทวนความรู้สึกและความต้องการตัวเองก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึง ช่วยให้เราได้ใคร่ครวญและรู้จักตัวเองอย่างแจ่มชัด

เซียมซีไขชีวิต กับไพ่คำถาม ที่ชวนค้นหาความต้องการที่แท้จริงของชีวิต

กิจกรรมที่ 4 : ระบายสีใจ & ไพ่ฤดูฝน

เพราะหลายครั้ง เราไม่รู้จักแม้กระทั่งความต้องการของตัวเอง กิจกรรมนี้จึงช่วยให้ผู้คนเชื่อมสัมพันธ์กับตัวเอง โดยการระบายออกเป็นสีสัน และไพ่ฤดูฝนเพื่อสำรวจความต้องการลึก ๆ ที่ซ่อนภายในใจ

ระบายสีใจ & ไพ่ฤดูฝน ชวนคนสะท้อนความรู้สึกส่วนลึกในจิตใจออกมาเป็นสีสัน

กิจกรรมที่ 5 : Happiness Aroma “กลิ่นกับความสุข”

การสัมผัสกลิ่นหอมนอกจากจะช่วยให้เรานึกย้อนไปถึงความสุข และความทรงจำที่ซ่อนอยู่แล้ว ยังช่วยบำบัดเยียวยา รักษาอารมณ์ของเราได้ด้วย กิจกรรมนี้จะให้ทุกคนลองลงมือปรุงเครื่องหอม ซึ่งเป็นเสมือนกลิ่นของความสุขด้วยตัวเราเอง

ติดตามกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ในช่วง สัปดาห์แห่งความสุข ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 4 เมษายน 2567 หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ความสุขประเทศไทย และ Soul Connect Fest

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active