อย่าเชื่อข่าวลือ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ยัน “นมวัว” ดื่มได้

ยกผลการศึกษา หลักฐานทางการแพทย์ ยืนยันนมวัวไม่ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น หรือส่งผลให้เกิดโรคออทิซึม แนะนำ​เด็กก่อนวัยเรียน​สตรีมีครรภ์ให้นมบุตรควรดื่มนมวัววันละ 3 แก้ว

จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลในประเด็น “นมวัว ทำลายสุขภาพ” เช่น ดื่มแล้วกระดูกพรุน มีสารก่อมะเร็ง นมวัวกับโรคออทิสติก จนเป็นที่สงสัยและตื่นตระหนกต่อข้อมูลที่ได้รับนั้น

วานนี้ (24 ก.พ.67) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ร่วมกับสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับประเด็นนี้ ภายใต้ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ และหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. เคซีนในนมวัวกับการย่อยของร่างกาย เคซีนเป็นโปรตีนหลักที่พบในน้ํานมวัวทําหน้าที่จับกับแคลเซียมและฟอสเฟตแขวนลอย อยู่ในน้ําทําให้น้ํานมมีลักษณะสีขาวขุ่น ในเด็กปกติที่ไม่ได้มีปัญหาการย่อยอาหารบกพร่อง ก็จะไม่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นท้องจากการบริโภคนมวัว

2. สารตกค้างในนมวัว มีการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั้งทางด้านโภชนาการและจุลินทรีย์ ตามรายเขตสุขภาพของกระทรวง สาธารณสุขล่าสุดในปีพ.ศ.2562 พบว่าร้อยละ 97 มีคุณภาพผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่350 (พ.ศ. 2556) ในปี พ.ศ. 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ไม่พบว่ามีสารเคมีกําจัดศัตรูพืชและยาต้านจุลชีพตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ

3. นมวัวกับภาวะกระดูกพรุน นมวัวเป็นแหล่งสําคัญของโปรตีนคุณภาพแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีการศึกษาแบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่ากลุ่มเด็กที่บริโภคนมมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นทั้งร่างกายประมาณร้อยละ 3 เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคนม นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับฮอร์โมน ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโต เช่น insulin-like growthfactor1 (IGF-1 ) และลดการสลายกระดูก รวมถึงการบริโภคนมที่เสริมวิตามินดี จะสามารถเพิ่มระดับวิตามินดีได้เฉลี่ย 5 นาโนกรัม/มล. ซึ่งเทียบได้ประมาณหนึ่งในสี่ของระดับปกติในร่างกายทั้งนี้การที่เด็กได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอตามวัยตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่นจะช่วยทําให้มวลกระดูกสูงสุดดีเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และป้องกันภาวะกระดูกบางเมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจําเดือนและสูงอายุ

4. นมวัวกับโรคมะเร็ง นมวัวประกอบด้วยสารออกฤทธ์ทางชีวภาพหลายชนิดที่อาจมีผลในการกระตุ้นหรือยับยั้งการเกิดมะเร็ง เช่น แลคโตเฟอริน วิตามินดี กรดไขมันสายสั้น กรดไขมันอิ่มตัว และ IGF-1 มีการทบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ พบว่า มีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่สนับสนุนว่าการบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัวทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

5. นมวัวกับโรคออทิซึม ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ที่ยืนยันว่านมวัวมีส่วนทําให้เกิดโรคออทิซึม ในทางตรงกันข้ามการงดบริโภคนมวัวในเด็กที่เป็นโรคออทิซึมทำให้เกิดผลเสีย เพราะนมวัวเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดอะมิโน-ทริปโตแฟน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นซีโรโทนินในร่างกาย และออกฤทธิ์ในการควบคุมอารมณ์ปรับพฤติกรรมและช่วยในการนอนหลับ

6. นมวัวกับโรคภูมิแพ้ ทารกและเด็กเล็กที่บริโภคนมวัวมีเพียงร้อยละ 1.7 จะเกิดโรคแพ้โปรตีนมวัวซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองกับโปรตีนในนมวัว และมีอาการแสดงออกได้หลายระบบ อาทิ ผิวหนังทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร สําหรับข้อกังวลเรื่องการได้รับนมวัวแล้วทําให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นองค์กรวิชาชีพทั่วโลกมีคําแนะนําว่า การจํากัดการบริโภคนมวัวในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรไม่ช่วยป้องกันโรคแพ้โปรตีนนมวัวในทารก รวมถึงการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมานล่าสุด ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการที่เด็กได้รับนมวัวกับการเกิดโรคหอบหืด การหายใจลำบาก มีเสียงหวีด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคแพ้โปรตีนนมวัว 

ดังนั้นจากข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้สรุปมาข้างต้น ร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของนมวัวซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยที่นมปริมาตร 10 ซีซี ให้พลังงานทั้งหมด 64-67 กิโลแคลอรี โปรตีน 3.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.7 กรัม (ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาลแลคโตส) และไขมัน 3.7 กรัม (กรดไขมันส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) มีแร่ธาตุ และวิตามินที่สําคัญ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม วิตามินบี 2 วิตามินบี  12 และกรดแพนโททีนิก ซึ่งถูกดูดซึมได้ดี

ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนบริโภคนมวัววันละ 3 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี) ส่วนเด็กวัยเรียนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่รวมถึงสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร แนะนำให้บริโภคนมวัววันละ 2-3 แก้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active