คณะแพทย์ จุฬาฯ เลิกตัดเกรด A – F นิสิตแพทย์

ปรับหลักสูตร ปรับการประเมินใหม่ เป็น ‘ผ่าน – ไม่ผ่าน’ เน้นจริยธรรมวิชาชีพมากขึ้น เปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘อาจารย์ใหญ่’ ตั้งแต่ ปี​ 1​ หวังปรับเกณฑ์ ​ลดการแข่งขัน ลดความกดดัน – เครียด

วันนี้ (29 ม.ค. 67) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ที่อาจมีความเครียดจากเนื้อหาการเรียน และกว่าแพทย์จะจบออกไปมีความรับผิดชอบสูงมากเพราะต้องดูแลรับผิดชอบชีวิตคนไข้ ความคาดหวังสังคมก็ปรับเปลี่ยนไปเยอะ แม้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบการประเมินอาจไม่ใช่คำตอบเดียว แต่ต้องทำทุกด้านพร้อมกัน แต่คิดว่าวิธีนี้จะช่วยให้ความเครียดน้อยลง

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

สำหรับ นิสิตที่จะเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป หลักสูตรใหม่มีการปรับปรุงพัฒนาในหลายด้าน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือการปรับเปลี่ยนการแสดงผลการประเมินนิสิตในแต่ละรายวิชาเป็น S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) หรือ ผ่านเกณฑ์ กับ ไม่ผ่านเกณฑ์ตลอดหลักสูตร แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A – F และยังเลื่อนการเรียนกายวิภาคศาสตร์ กับอาจารย์ใหญ่  (ผ่าศพอาจารย์ใหญ่) จากเดิมปี 2 ขึ้นมาเป็นปี 1 เพื่อให้มีเวลาในการเรียนรู้มากขึ้น 

รศ.นพ.ฉันชาย บอกอีกว่า คำว่าผ่านเกณฑ์ไม่ใช่แค่สอบอย่างเดียว แต่มีเกณฑ์ในแง่จริยธรรมวิชาชีพ และทุกเกณฑ์ต้องผ่านหมด ที่ผ่านมาเกรด D คือผ่าน แต่ถ้าเป็นเกรด D รุ่นนี้อาจจะยังไม่ผ่าน หมายความว่าเกรด D ควรจะพัฒนาให้ดีกว่านี้ 

”ผมเชื่อว่าเกณฑ์ผ่านจะสูงขึ้น ให้มั่นใจว่าอย่างน้อยหมอทุกคนจะผ่านเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ ในรายวิชาจะมีเกณฑ์ 4-5 ข้อ ที่ผ่านมาอาจเอาคะแนนสอบมาช่วยกันถัว เช่น สอบได้คะแนนดี แต่อาจจะไม่ยอมมาทำงาน ไม่มีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในหลักสูตร เพราะเราจะวัดทุกประเด็น ให้มีความสมบูรณ์“ 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า มีงานวิจัยที่แสดงว่า การตัดสินผลการศึกษาในลักษณะนี้ (non-tiered grading system) จะช่วยลดระดับความเครียดของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และสร้างเสริมสุขภาวะของผู้เรียนในขณะที่ผลการสอบและพฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานไม่ได้ลดลง 

นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้จากภายใน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย จากสถิติของโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า สัดส่วนของโรงเรียนแพทย์ที่ใช้ letter grade (A – F) มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ โดยในปีการศึกษา 2021/2022 มีโรงเรียนแพทย์ที่ใช้การตัดเกรดลักษณะนี้ไม่ถึง 15% ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด

ขณะที่ นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นิสิตแพทย์ ปี 6 บอกว่าคุ้นชินกับการตัดเกรด 1 – 4 มาจนถึงมัธยม พอมาเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังตัดเกรดลักษณะเดิม ถ้ามีเกรดที่ดีที่สุดก็ยังคาดหวัง ซึ่งในคณะแพทย์ทุกคนก็อยากได้เกรด A เป็นเรื่องธรรมดา ทำให้การเรียนโฟกัสที่เกรดเป็นหลักว่าความรู้ที่อ่านออกสอบหรือไม่ ก็จะไปโฟกัสเนื้อหาที่จะออกสอบเพื่อทำเกรดที่ดีมากกว่า 

การเปลี่ยนแปลงการประเมินผลครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสอ่านเนื้อหาที่จะได้ใช้จริงมากขึ้นด้วย พอมีแค่ผ่านกับไม่ผ่าน ก็เรียนเพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะไปเป็นแพทย์ที่ดี โดยไม่ได้ยึดติดว่าความรู้นั้นจะทำให้ได้เกรด A หรือไม่ รวมทั้งมีการทำโฟกัสกรุ๊ปกับนิสิต พบว่า ต้องการการประเมิน แบบ S/U มากกว่า และอยากมีโอกาสได้สัมผัสกับคนไข้มากขึ้นในสถานร่วมผลิตมากขึ้น 

นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

“ความเครียดเป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้นิสิตหลายคนกดดัน ต้องบอกเลยว่าการเรียนแพทย์นอกจากเวลาพักผ่อนที่น้อยแล้ว การเรียนก็หนัก มีความเครียดจากการทำงาน การอ่านหนังสือ การสอบใบประกอบฯ มีหลายองค์ประกอบ ก็อาจทำให้นิสิตผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปค่อนข้างยาก อย่างน้อยการปรับเรื่องของการประเมินผล ทำให้ลดการเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็นได้” 

นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์

แก้ปัญหาขาดแคลน “จิตแพทย์” เฉพาะหน้า

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงกรณีการผลิตจิตแพทย์เพิ่มว่า ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของแพทยสภาอยู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การผลิตแพทย์ออกมาต้องได้มาตรฐาน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันแพทย์ที่จบ 3,000 กว่าคนต่อปี ตำแหน่งที่จะเข้ามาเป็นแพทย์เฉพาะทางน้อยลง แต่ก็อยู่ในขั้นตอนที่จะพิจารณาว่า ส่วนใดที่ต้องขยายเพิ่ม

“เรามีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างเร็วนะครับ เช่น ช่วงที่เป็นโควิด เราก็เพิ่มศักยภาพแพทย์โรคติดเชื้อให้มากขึ้น พูดในฐานะแพทยสภาก็ต้องปรับตัวให้ทัน สุดท้ายแล้วคิดว่าการเทรนนิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาเรียนใหม่ทั้งหลักสูตร แต่เป็นการอัพสกิล รีสกิลเพื่อให้สามารถนำความรู้ที่เหมาะสมไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็เป็นอีกทางหนึ่ง” 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

รศ.นพ.ฉันชาย เห็นด้วยว่า จิตแพทย์มีความจำเป็นมากขึ้น และก็ไม่เฉพาะจิตแพทย์ อย่างเดียว นักจิตวิทยา หรือการใช้เทคโนโลยีอย่างอื่นเข้ามาช่วยก็จะเป็นการตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ที่มีความต้องการดูแลสุขภาพจิต มากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active