เสียงสะท้อน “คนร้อยเอ็ด” หลังคิกออฟ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”

หวังสร้างทางเลือกเข้าถึงการรักษา ลดปัญหาเข้ารับบริการโรงพยาบาล “รอคิวนาน-เดินทางไกล” อยากเห็นคลินิกใกล้บ้าน หมอเฉพาะทางเพิ่ม

The Active ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเริ่มคิกออฟไปตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 67 ประชาชนบางส่วนสะท้อนว่า หากสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้จริง ก็อยากเข้ารับบริการ “คลินิกใกล้บ้าน” มากกว่าการไปรอคิวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ขณะที่บางคนอยากให้มี “แพทย์เฉพาะทาง” ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อไม่ต้องเดินทางไกล

สำนวน คุนาพรหม ชาวโคกล่าม อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า สามีของเธอ “ตาบอดสนิท” จากโรคต้อหินระยะสุดท้าย เนื่องจากได้รับการรักษาล่าช้า ก่อนที่ตาของสามีจะบอดสนิท เธอได้พาสามีไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ แพทย์จ่ายยาหยอดตาให้ แต่อาการไม่ดีขึ้น จนเริ่มมองไม่เห็น จึงตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิกเฉพาะทางโรคตา ซึ่งต้องเสียเงินเอง แต่ก็สายเกินไปเพราะหมอบอกว่า “หมดทางรักษาแล้ว” หากเวลานั้นสามารถใช้สิทธิ์รักษาทุกที่ได้ ก็จะเลือกไปคลินิกหมอตาตั้งแต่แรก

“ตอนที่ยังไม่บอด ไปหาหมอที่โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน เขาก็เอายามาหยอดให้ แต่ว่าอยู่ดี ๆ แล้วมันก็มืดบอดไปเลย ไม่นานเลยหลังจากไปหาหมอ มันบอดไปเลย ไม่รู้ว่าช่วยหรือไม่ช่วยแต่หยอดให้เขาตลอด”

สำนวน คุนาพรหม
สำนวน คุนาพรหม

สำนวน บอกด้วยว่า ส่วนตัวไม่ชอบการไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพราะคนเยอะ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะเลือกกินยาแก้ปวดเอง แต่หากมีสิทธิ์รักษาทุกที่ ก็อยากจะใช้สิทธิ์เข้ารับการรักษาที่คลินิกมากกว่าไปโรงพยาบาล

หมอใกล้บ้าน เจ็บป่วยมีทางเลือก

ขณะที่ วรศักดิ์ สิงห์ป้อง พาลูกชายมาล้างแผลที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โคกล่าม อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด เพราะเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านมากที่สุด เขาบอกว่า ลูกชายต้องล้างแผลหัวแตกซึ่งถูกเย็บหลายเข็มทุกวัน ถ้ารักษาทุกที่ได้จริง การเจ็บป่วยก็จะมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะการได้หาหมอคลินิกใกล้บ้าน

วรศักดิ์ สิงห์ป้อง ระหว่างพาลูกชายมาล้างแผลที่ รพ.สต.โคกล่าม อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด

“คือมาอนามัยก็คือว่าใกล้บ้านที่สุดแล้วตอนนี้ มาดูอาการเบื้องต้นไปก่อน ฉุกเฉินไปก่อน ถ้าเริ่มไม่ดีเอาไม่อยู่ ก็จะไปที่อำเภอแล้วก็ไม่ไหว ก็จะไปจังหวัดเขาจะส่งตัวให้ คือสามาถใช้ที่ไหนก็ได้ ใกล้ที่ไหนก็จะไปตรงนั้นก่อน เอาสะดวก”

วรศักดิ์ สิงห์ป้อง

แอบหวัง รพ.ใกล้บ้าน รักษาได้ทุกโรค

เช่นเดียวกับ นงเยาว์ ศรีวงศ์ ญาติผู้ป่วย บอกว่า แม้มีสิทธิ์รักษาทุกที่ ก็ไม่ใช่ทุกคนอยากไปที่โรงพยาบาลใหญ่ เพราะพี่ชายที่ป่วยจิตเวช และโรคเบาหวาน ต้องกินยาระงับประสาทเป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ทำร้ายตัวเอง ซึ่งยาที่กินอยู่ทุกวันนี้ทำให้อาการทรง ๆ คือ ไม่ดีขึ้น แต่ก็ไม่แย่ลง และการจะไปหาหมอแต่ละครั้ง ต้องไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด เพราะโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านไม่มีจิตแพทย์

นงเยาว์ ศรีวงศ์

เธอจึงอยากให้พี่ชายได้พบจิตแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล อยากให้โรงพยาบาลใกล้ ๆ มีแพทย์เฉพาะทางครบ และรักษาได้ทุกโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

เน้นส่งเสริม ป้องกันโรค ลดเสี่ยงเจ็บป่วย

พละ พลวุฒิ ผู้อำนวยการ รพ.สต.โคกล่าม ระบุว่า รพ.สต.โคกล่าม เป็นหน่วยยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิ์บัตรประชาชนรักษาทุกที่ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพในระบบครบถ้วน แม้ว่า รพ.สต. จะถ่ายโอนมาอยู่กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นคนละสังกัดกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ยอมรับว่า บทบาทของ รพ.สต. หลังจากนี้ นอกจากเป็นหน่วยบริการรักษาใกล้บ้านแล้ว อาจต้องเปลี่ยนไปทำงานส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ให้คนเจ็บป่วยมากขึ้นด้วย

พละ พลวุฒิ ผู้อำนวยการ รพ.สต.โคกล่าม ระหว่างตรวจสุขภาพให้ชาวบ้าน

“ผมว่ามันเป็นทางเลือกของประชาชน ผมทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ประชาชนถ้าเขาได้รับบริการตรงไหนที่ดี เขาก็ก็จะเลือกที่จะไปตรงนั้น มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของประชาชนด้วยซ้ำไป เราไม่ได้กังวลว่าเขาจะมาหาเราหรือไม่ มองว่า จะทำให้เราทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพได้มากขึ้น คือ จะเป็นการส่งเสริมควบคุมโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งเป็นแนวทางของ อบจ. ที่ให้เราทำงานส่งเสริมป้องกันควบคุมโรคมากขึ้น”

พลพลวุฒิ

สำหรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดขับเคลื่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่, เพชรบุรี, นราธิวาส และร้อยเอ็ด จากนั้นระยะที่ 2 จะขยายอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สิงห์บุรี, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และพังงา คาดว่าภายในปี 2567 จะสามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ

อัพเกรด “บัตรทอง” เชื่อมระบบเข้าถึงการรักษารวดเร็ว

ก่อนหน้านี้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ โพสต์ ย้ำว่า “30 บาท Pro” หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ คือ การยกระดับมาตรฐานการรักษาและบริการด้วยเทคโนโลยี เชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกสถานพยาบาลในเครือข่ายเข้าด้วยกันในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ สถานีอนามัย ห้องแล็บ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเอกชนบางแห่ง เข้าด้วยกัน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่าย สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถถือบัตรประชาชนใบเดียวใช้บริการตามระบบดังนี้

  • นัดคิวแพทย์ออนไลน์ : เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้ ผ่านแอปหรือไลน์ “หมอพร้อม” ไม่ต้องเสียเวลารอที่โรงพยาบาลทั้งวันอีกต่อไป

  • ตรวจเลือดใกล้บ้าน : หากต้องมีการตรวจเลือด สามารถตรวจก่อนได้ที่คลินิกหรือแล็บในเครือข่ายใกล้บ้าน ข้อมูุูลจะเชื่อมโยงกับหน่วยบริการสุขภาพอื่น โดยโรงพยาบาลที่ท่านรักษาสามารถออก “ใบสั่งแล็บดิจิทัล” (e-Lab order) ได้ จึงช่วยให้เดินทางสะดวก ลดเวลาการรอได้

  • รักษาได้ทุกโรงพยาบาล : ด้วยระบบ HealthID เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาของท่านให้ทุกหน่วยสุขภาพ ทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลรัฐและสถานพยาบาลเอกชนในเครือข่าย รวมถึงส่งต่อได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป พร้อมมีใบรับรองแพทย์ดิจิทัลด้วย ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ผ่านแอปหมอพร้อมได้ ณ โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน หรือจะใช้บัตรประชาชนใบเดียว Walk-in เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนก็ได้เช่นกัน

  • ตรวจรักษากับแพทย์บนโทรศัพท์มือถือ (Telemedicine) : สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอีกต่อไป เพราะสามารถเลือกรับการตรวจรักษาผ่านโทรศัพท์มือถือ (Telemedicine) ผ่านแอปหมอพร้อมได้

  • รับยาใกล้บ้าน : ระบบมีใบสั่งยาดิจิทัล (e-prescription) เชื่อมโยงข้อมูลถึงร้านขายยาใกล้บ้าน เมื่อผู้ป่วยตรวจเสร็จแล้วที่โรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้เลย หรือหากผู้ป่วยรับการตรวจผ่าน Telemedicine แล้ว สามารถรับยาได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือรอรับทางไปรษณีย์ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active