เปิดที่สุด 5 ข่าวสาธารณสุข แห่งปี 2566

ตลอดทั้งปี 2566 เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสาธารณสุขหลังการระบาดโควิด-19 และการเลือกตั้งทั่วไป กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนผ่านจาก “อนุทิน” มาสู่ “หมอชลน่าน” เดินหน้านโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงบ่นจากบุคคลากรทางการแพทย์ที่ลาออกจากระบบ ยังไม่นับรวมปัญหาการกระจายอำนาจ รพ.สต. ยังเป็นลูกผีลูกคน รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคม The Active จัดอันดับ 5 ข่าวสาธารณสุข แห่งปี 2566 ดังนี้

1. “หมอชลน่าน” คุมกระทรวงสาธารณสุข ท่ามกลางความหวัง

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ใช้เวลากว่า 3 เดือนจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่แวดวงสาธารณสุข จับตาไปที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เดิมเป็นของ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญกับการระบาดของ โควิด-19 ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการจัดหาวัคซีน อนุทินเองก็ไม่ใช่คนในวิชาชีพแพทย์ การเข้ามาของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ จึงเป็นความหวังในการรื้อระบบสาธารณสุขและพัฒนาให้ดีขึ้น

แต่ผ่านมาแล้ว 3 เดือนท่ามกลางนโยบายควิกวิน 10 ประเด็น แวดวงสาธารณสุขยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ที่จะแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขให้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังตั้งคำถามหลายเรื่องโดยเฉพาะนโยบายมากมายยิบย่อยที่เหมือนทำแล้วผ่านไป เน้นประชาสัมพันธ์ บางนโยบายอย่าฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็ประกาศว่าเกินเป้า ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว 

ในขณะที่นโยบายที่ตั้งเป้าไว้หลายหลายอย่าง ก็ถูกปรับเป้าลงมาอย่างเนียน ๆ อย่างเช่น 1 จังหวัด 1 สถานชีวาภิบาล จากเดิมที่บอกว่าจะทำให้ครบทุกจังหวัดก็เหลือลงมาอยู่แค่อย่างน้อย 1 แห่งในเขตสุขภาพซึ่งมี 13 เขต ส่วนที่บอกว่าจะสร้างโรงพยาบาลกทม. ในที่สุดก็ใช้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีอยู่เดิมเป็นหน่วยบริการ ประชาชนยังไม่รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ

ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างสาธารณสุข อย่างเช่นการส่งเสริมป้องกันโรคที่จะไม่ทำให้คนป่วยเพิ่มมากขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยังไม่เห็นมาตรการความปลอดภัยทางอาหารที่ชัดเจน การยกระดับโรงพยาบาลชุมชนและหน่วยบริการปฐมภูมิที่บอกว่าจะหาแพทย์มาประจำให้ครบก็สวนทางกับสถานการณ์ความเป็นจริง ว่าจะหาแพทย์มาจากที่ไหนกลายเป็นถูกคนในแวดวงวิชาการมองว่าเป็นนโยบายที่ผิดเพี้ยน

2. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ตั้งบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ไม่คืบ 

จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ประสบความสำเร็จในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกต่อยอดเป็นนโยบาย บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในยุคของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ภาคประชาชนยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่การจะไปถึงจุดรักษาทุกที่ได้อย่างแท้จริง ไม่เน้นประชาสัมพันธ์ ต้องเจอความท้าทายหลายเรื่อง และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนสะท้อนความเห็น 

แม้ปัจจุบันจะมีการวางแผนนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ม.ค. 2567 แต่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องเรียนรู้และถอดบทเรียน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพในหน่วยบริการต่างสังกัด ซึ่งยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก ขณะที่อีกด้านหนึ่งยังเป็นห่วงว่านโยบายนี้ จะทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจกระทบกับความยั่งยืน หากบริหารจัดการไม่ดี 

ในขณะที่สิทธิประโยชน์และการให้บริการของสิทธิบัตรทอง พัฒนาไปข้างหน้า แต่สิทธิสุขภาพในประกันสังคม ดูจะมีช่องโหว่และด้อยลงไป จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ บัตรทอง-ข้าราชการ-ประกันสังคม ได้เมื่อไหร่ 

แม้รัฐบาลนี้จะตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประชุมกันไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 โดยมีโดยนายกรัฐมนตรีประธาน และ แพรทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน แต่ยังไม่เห็นผลงานหรือแนวทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพทั้ง 3 กองทุนได้

 3. ปัญหาขาดแคนกำลังคน บุคลากรทางการแพทย์ ยังแก้ไม่ตก

จากกระแสดราม่าแพทย์อินเทิร์นลาออกจากระบบเพราะทนภาระงานลนเกินไม่ไหวปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่จบและเรื้อรังปีข้ามปี โดยในปี 2566 มีความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องกำลังคนและบุคลากรทางการแพทย์อย่างจริงจังทั้งฝั่งของกระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภา ก็มีการประชุมกันหลายครั้ง แต่ก็ยังดูเหมือนว่า เสียงบ่นของแพทย์ในระบบก็ยังไม่ลดลง วิธีการทำนาการทำงานยังคงเป็นแบบเดิม  งานโหลด อยู่เวรเกือบ 48 ชั่วโมง มากกว่าแรงงานทั่วไปหลายเท่า 

กระทรวงสาธารณสุข พยามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ไม่เพียงเฉพาะแต่กลุ่มแพทย์ เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงพยาบาลและบุคลากรทางวิชาชีพต่างๆเฉพาะพยาบาลมีการบรรจุตำแหน่งไปแล้วเกิน 50% ส่วนนักวิชาการสาธารณสุขก็มีการบรรจุเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ 

ส่วนระยะยาวคือการผลิตแพทย์เพิ่ม ซึ่งนักวิชาการมองว่าอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาหลักใหญ่ใจความของเรื่องนี้ คือการกระจายบุคคลากร ซึ่งทุกวันนี้กระจุกอยู่ในระบบบริการสุขภาพภาคเอกชนซึ่งให้ค่าตอบแทนดีกว่าและภาระงานน้อยกว่า

การแก้ไขปัญหาบุคลากร นอกจากการสร้างขวัญและกำลังใจแล้วอาจจะต้องคิดไกลไปถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุขทั้งระบบ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกไกล และความกล้าหาญอีกมาก กว่าจะเดินไปถึงจุดนั้น 

4. กระจายอำนาจ รพ.สต ที่ยังเป็นลูกผีลูกคน 

ผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว สำหรับการถ่ายโอน รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ท่ามกลางความหวังว่าการถ่ายโอนครั้งนี้ จะทำให้การให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนดีขึ้น แต่สวนทางความจริง จากเสียงสะท้อนของ รพ.สต. ที่ถูกถ่ายโอนไปบ้างแห่ง พบข้อติดขัดในระเบียบการเงิน ปัญหาบุคลากรไม่พอ 

การกระจายอำนาจและเป็นแนวคิดที่ดี แต่การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขไปสู่ท้องถิ่นที่ยังไม่มีความพร้อม กลับกลายเป็นผลเสียมากกว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงเพราะในบางพื้นที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป ก็ให้บริการประชาชนได้มากกว่าตอนที่อยู่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ในการถ่ายโอนในระยะแรกงานวิจัยของ สวรส. พบปัญหามากกว่า 

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพกังวล เพราะกระทบกับการให้บริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชนบทโดยตรงเนื่องจาก รพ.สต.เป็นด่านหน้าที่ชาวบ้านจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และยิ่งสับสนเมื่อ อสม. ซึ่งเป็นมดงานสุขภาพปฐมภูมชุมชนไม่ได้โอนภารกิจตามไปอยู่กับ อบจ. แต่ยังอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิมดังนั้นการดำเนินงานด้านสุขภาพซึ่งต่างสังกัดกัน ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ การถ่ายโอน รพ.สต.เป็นไปด้วยความสมัครใจครั้งแรกในปี 2566 มี รพ.สต.ที่สมัครใจถ่ายโอนไปถึง  3,264 แห่งแต่ปี 2567 มี รพ.สต.ที่สมัครใจถ่ายโอนเพียง 921 แห่งน้อยกว่าเดิมหลายเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่ใจของคนที่ทำงานในพื้นที่

 5. ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดที่มากขึ้น ระบบสาธารณสุขจะรับไหวหรือไม่

ปัญหาความรุนแรงในสังคมส่วนหนึ่ง มาจากปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นผลมาจากการเสพยาเสพติด เดิมโลกเผชิญกับโรคระบาดทำให้ระบบสาธารณสุขตั้งรับไม่ทัน แต่ปัจจุบันโรคจิตเวชก็มีผู้ป่วยมากขึ้น ขณะที่จิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้รักษาที่จะมาดูแล ผลิตไม่ทัน และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชล้นโรงพยาบาล เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข กลายเป็นความเจ็บปวดของคนจำนวนมากหลังจากกรมสุขภาพจิตเปิดเผยตัวเลขออกมาพบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 6 ปี 

ด้านปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นที่มาของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ยิ่งเติมจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบมากหลัง หลังมีนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย การรองรับทำได้ไม่ง่าย แม้จะมีนโยบาย 1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์ ซึ่งต้องใช้บุคลากรเพิ่มเติมจนเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยโรคอื่น ๆ 

ขณะเดียวกันแพทย์ก็ยอมรับว่าโรคจิตเวช เหมือนกับโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย จะต้องพบแพทย์ต่อเนื่อง นั่นทำให้การบำบัดผู้ป่วยออกมาแล้วไม่หายขาด กว่าครึ่งกลับไปเสพยาซ้ำ กลายเป็นปัญหาวนเวียน

ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะหวังพึ่งระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นปลายทางรองรับ เพียงอย่างเดียว แต่องคาพยพทั้งสังคมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS