เปิดเหตุผลนักวิชาการ “ทำไมมียาบ้า 5 เม็ดจึงเป็นผู้เสพ”

รมว.สธ .ย้ำถือครองยาบ้า 5 เม็ดไม่ติดคุกบน 3 เงื่อนไข  เผยยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอ ครม. เดือน ธ.ค. นี้  

วันนี้ 20 พ.ย. 2566 รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ให้สัมภาษณ์ The Active ว่าในฐานะหน่วยงานวิชาการที่เข้าไปให้ความเห็นเกี่ยวกับอ (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีการครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. … เห็นด้วยกับการครอบครองยาบ้า 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่าไม่ใช่เพื่อการจำหน่าย แต่ใช้เสพส่วนตัว แต่ก็ต้องดูเรื่องพฤติการณ์เป็นสำคัญ หากมีเป็นผู้ค้าก็ต้องได้รับโทษทางอาญา

“จริง ๆ ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถมีเกณฑ์อะไรมาวัดได้ว่าปริมาณเท่าไหร่จึงถือว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ แต่การกำหนดดังกล่าว เพื่อให้ง่ายต่อการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ เป็นแนวทางแยกระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าออกจากกันตามที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2564 ระบุ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ควรเข้ารับการบำบัดไม่ต้องรับโทษทางอาญา” 

รศ.พญ.รัศมน

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)  บอกต่อว่า หากรัฐมีนโยบายเช่นนี้ออกมาแบบนี้จำนวนผู้ต้องโทษคดียาเสพติดก็จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันจำนวนของผู้ที่ต้องเข้าสู่ระบบการบำบัดก็จะเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเพิ่มระบบการบำบัดให้มีเพียงพอและทั่วถึงไป ทั้งนี้เป็นห่วงเรื่องภาระงานบุคลากรที่ต้องแบ่งมาดูกลุ่มผู้ป่วยจากยาเสพติดซึ่งอาจจะกระทบกับการดูแล โรคอื่นๆ 

ย้อนกลับไปผลจากประมวลกฎหมายยาเสพ ที่มีการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2564 กำหนดผู้เสพคือผู้ป่วย ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดอย่างเห็นได้ชัด 

  • ปี 2561 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 245,080 คน
  • ปี 2562 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 251,840 คน
  • ปี 2563 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 231,153 คน
  • ปี 2564 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 203,862 คน*
  • ปี 2565 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 183,355 คน 
  • ปี 2566 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 180,896 คน

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่มา: กรมราชทัณฑ์ 

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้งประเทศ ก่อนหน้าปี 2564 มีมากกว่า หลังแก้ประมวลกฎหมายยาเสพติด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มมีผู้เข้ารับการบำบัดมากขึ้น 

  • ปี 2652 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 263,834 คน
  • ปี 2563 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 222,627 คน
  • ปี 2564 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด  179,619 คน
  • ปี 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 120,915 คน
  • ปี 2566 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 186,104 คน

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

รศ.พญ.รัศมน ให้ข้อมูลต่อว่า ในทางการแพทย์การใช้ยาแอมเฟตามีนหรือยาบ้าเกิน 5 เม็ด เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต จะเริ่มมีอาการหวาดระแวง ดังนั้นการที่กฎหมายกำหนด 5 เม็ด คือผู้ป่วยจะได้เข้าถึงการรักษา และบำบัดฟื้นฟู 

ทั้งนี้ การบำบัดมีหลายวิธีทั้งผู้ป่วยจากการใช้ยาเสพติดบางคนเข้ารับการบำบัดโดยที่ไม่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลโดยเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า “จิตสังคมบำบัด” ขณะที่การใช้ยาในการบำบัดยาเสพติด ในโรงพยาบาลจะเป็นการรักษาตามอาการให้ยาต้านการเสพติดหรือ Antipsychotics หรือยาต้านอาการทางจิต

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะได้รับการบำบัดแล้วก็อาจจะยังไม่หายขาดผู้ป่วยยาเสพติดก็เหมือนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นแล้วเป็นซ้ำได้บำบัดแล้วกลับไปเสพได้เช่นกัน” 

มียาบ้า 5 เม็ดไม่ติดคุกบน 3 เงื่อนไข

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกำหนดถือครองยาบ้านต่ำกว่า 5 เม็ดไม่ผิดกฎหมาย ต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ หากไม่มียังไงก็ติดคุก คือ 1.สมัครใจรักษา 2.เข้าสู่กระบวนการรักษาจนครบ และ 3.ได้รับการรับรอง 

ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การป้องกัน 2.การปราบปราม และ 3.การบำบัดรักษาฟื้นฟู ซึ่งเป็นส่วนการรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ทั้งหมดจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ยังอยู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (นับจาก 15 พ.ย. 2566) หลังจากนี้จะเข้าสู่ครม.เพื่อเห็นชอบ จึงจะออกประกาศได้ และนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้โอกาสคนที่เสพมีไว้ครอบครอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active