SWING ชี้ถ้ากินยาต่อเนื่องแพร่เชื้อ HIV ไม่ได้

ผอ.มูลนิธิสวิง เผย สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมคนไทยเข้าถึงการรักษา ตรวจเลือด 2 ครั้งต่อปี รับยาก่อน-หลังสัมผัสโรค ไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ กรมอนามัยแนะ “หัดปฏิเสธให้เป็น” พร้อมเปิดช่องทางให้คำปรึกษา

วันนี้ (7 พ.ย. 2566)  จากกรณีนักศึกษาสาวออกมาโพสต์เรื่องราวของตนลงโซเชียลมีเดียว่า เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) แต่กำเนิด และมีการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่มีการดื่มสุราจึงทำให้เชื้อดื้อยา อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์แบบ One Night Stand กับหลายคนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีการป้องกันนั้น

สุรางค์ จันทร์แย้ม

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยว่า จากประเด็นดังกล่าว หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่บุคคลอื่นได้ แม้ว่าจะมีพฤติกรรมดื่มสุราก็ตาม โดยเรื่องนี้ได้รับการยืนยันตามข้อเท็จจริงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยที่มีการศึกษามา โดยเรียกกรณีนี้ว่า U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ ซึ่งหมายความว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและตรงเวลา จะสามารถกดปริมาณไวรัสให้ต่ำถึงระดับที่ไม่สามารถตรวจหาไวรัสในเลือดพบ และทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อออกไปได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันหากจะเข้ารับการตรวจ รับยาป้องกัน ซึ่งเป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษานั้น สามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ให้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์(AIDS) ทั้งการเข้าถึงการตรวจเลือดของประชาชน และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการตรวจปีละ 2 ครั้ง ขณะที่ในส่วนของการรักษารวมไปถึงการรับยาต้านไวรัสโดยไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นเป็นสิทธิประโยชน์ที่ทุกสิทธิการรักษาภาครัฐครอบคลุมทั้งหมดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีสิทธิการรักษาอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สิทธิประกันสังคม รวมถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น  

“กรณีของน้องผู้ติดเชื้อ หากน้องไม่ได้กินยาต่อเนื่องก็อาจทำให้ไวรัสเอชไอวีมีโอกาสแพร่กระจายได้หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน แต่กรณีนี้ จากข้อมูลเท่าที่ทราบมาคือน้องติดเชื้อมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และมารดาก็กินยาต้านไวรัสมาตลอด ก็เท่ากับว่า น้องคนนี้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่อยู่ในท้อง และคลอดมาแล้วก็ยังกินยาต่อเนื่อง กรณีนี้จึงเป็นกรณี U=U ที่แพร่เชื้อไม่ได้” 

สุรางค์ กล่าว 

สุรางค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากสถานพยาบาลของรัฐแล้ว ในส่วนของภาคประชาชนเองก็มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ให้เป็นหน่วยบริการร่วมกับในระบบบัตรทอง 30 บาทด้วยเช่นกัน อย่างที่มูลนิธิ SWING ก็มีคลินิกสาขาที่ให้บริการทั้งการตรวจเลือด การให้ยาเพร็พ (PrEP) ที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรคควบคู่ไปกับการแจกถุงยางอนามัยเพื่อให้ใช้ร่วมกัน โดยสาเหตุที่ต้องจ่ายยาเพร็พก่อนสัมผัสโรคเพราะประชาชนบางส่วนอาจมีอาการแพ้ถุงยางอนามัย จึงต้องกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทน 

แต่หากได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว หรือกังวลว่ามีความเสี่ยงหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือสัมผัสโรค ก็สามารถประสานกับคลินิกเพื่อขอให้พาไปเจาะเลือดตรวจ ซึ่งทางคลินิกก็จะประสานกับโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาเป็ป (PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีภายใน 72 ชั่วโมง

“สูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีในปัจจุบันที่ถูกใช้รักษากับผู้ติดเชื้อ ก็ถูกปรับปรุงใหม่ให้มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น ทำให้ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือมีก็เกิดขึ้นน้อยมากขณะที่ยาต้านไวรัสยังถูกพัฒนาให้กินแค่วันละ 1 เม็ดต่อวัน ทำให้ชีวิตของผู้ติดเชื้อก็มีความสะดวกมากขึ้น” 

ผู้อำนวยการมูลนิธิ SWING กล่าว 

สุรางค์ กล่าวอีกว่า ระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ เพราะเป็นระบบที่่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมีการติดตามอาการของผู้ติดเชื้อหลังได้รับยา และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย 

อีกทั้งยังมีหน่วยงานภาครัฐคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐ ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานกับภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีให้กับประชาชนคนไทย และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันการเข้าถึงยาต้านไวรัสของกลุ่มเสี่ยงทำได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดตัวเลขผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ได้ด้วย

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมกรณียา Prep/PEP ได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 16 ให้บริการ 24 ชั่วโมง และสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 กด 1 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา9.00-21.00 น.

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล 

ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค โดยในปี 2565 คาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี สร้างความกังวลให้ประชาชนและสังคม และอาจส่งผลในอนาคต 

กรมอนามัยได้ดำเนินการสร้างความรอบรู้ด้านเพศสำหรับเยาวชน “รักเป็น ปลอดภัย” ด้วย 4 แนวทาง ดังนี้ 

  1. Safe Virgin มีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อม 
  2. Safe Sex หากจะมีเพศสัมพันธ์ ตนเองต้องปลอดภัย ใส่ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  
  3. Safe Abortion หากพลาดตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปรึกษาหน่วยบริการฯเพื่อรับคำปรึกษา 
  4. Safe Mom ฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา

ด้าน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นไทยควรรู้จักรักให้เป็น รักให้ปลอดภัย รู้วิธีการดูแลเพื่อป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยการให้เกียรติและเคารพทุกเพศ ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกันสองต่อสองในที่ลับตาคน และมีสติอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์ทางเพศซึ่งจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ตั้งใจ หรือหากจะมีเพศสัมพันธ์ต้องรู้จักวิธีป้องกันการตั้งครรภ์และการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และจะป้องกันได้ดีที่สุดถ้าใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาฝังคุมกำเนิดหรือห่วงคุมกำเนิด 

กรมอนามัยแนะนำการปฏิเสธโดยใช้ประโยค “ไม่…ถ้าฉันท้องแล้วเธอจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง?” เพราะการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ท้องไม่พร้อม หรือ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะเกิดผลเสียระยะยาวในอนาคตทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองควรเป็นที่พึ่งให้กับลูกหลาน เปิดโอกาสให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ไม่ต้องกังวล หากไม่สามารถตอบคำถามลูกได้ทุกคำถาม ให้ความสำคัญกับวิธีการโต้ตอบ ให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง และมีทางออกที่เหมาะสม

 “ทั้งนี้ กรมอนามัยมีการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอนามัยวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ผ่าน Line OA teen club เช่น ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นการคุมกำเนิดในวัยรุ่น สามารถเข้ารับคำปรึกษา เรียนรู้สร้างความรอบรู้ด้านเพศศึกษาและทักษะชีวิต โดย Add Line ได้ที่ @Teenclub”  

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active