สังคมตั้งตำถาม! เอาแพทย์จากไหนมาประจำ รพ.สต. ทุกแห่ง

หลัง รมช.สธ. มีแนวคิด 1 รพ.สต.มีแพทย์ประจำ 3 คน ชี้เห็นใจคนชนบทต้องเหมารถไป รพ. ฝากแพทยสภา คัดเด็ก ม.ปลาย แต่ละจังหวัด หนุนเรียนแพทย์ป้อนชุมชน

จากกรณี สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในโอกาสประชุมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สธ. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ว่าพอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่นอย่าง 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมีแพทย์ประจำ 3 คน เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระในการดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม 

บุคลากรสาธารณสุขในโลกโซเชียลแสดงความเห็นตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขว้าง ส่วนหนึ่งระบุว่า ความคิดนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและอนาคตเพราะประชาชนต้องการรักษาในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการไปหาหมอที่โรงพยาบาลในตัวเมือง ตัวแพทย์เองก็ต้องการพัฒนาความรู้ ทักษะ คุณภาพชีวิต เมื่อถึงถึงจุดหนึ่งก็ต้องไปอยู่ในเมืองที่มีความพร้อมและความเจริญการรักษาที่ รพ.สต. เป็นแค่การรักษาเบื้องต้น ดังนั้นผลิตพยาบาลให้เพียงพอและมีความก้าวหน้าเหมาะสม มาประจำอยู่ รพ.สต. ให้มากๆ ก็ ok แล้ว

ขณะที่อีกความคิดเห็นมองว่า ถ้าสนับสนุน หมอแผนไทย รพ.สต. ละ 3 คน นวด อบประคบ ลดทานยาแก้ปวด NSAIDs พอเป็นไปได้ครับ (ทุกตำบลน่าจะมีคนเรียนจากสมาคมแพทย์แผนไทยในจังหวัดนั้น) จ่ายเป็น workload ไม่ต้องจ้างเป็นลูกจ้าง หลายแห่งมีแล้ว อีกหลายแห่งยังไม่มี 

และหลายความคิดเห็นมองไปในทิศทางเดียวกันว่า จะหาแพทย์มาประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คน ได้อย่างไร เพราะปัจจุบันในระบบก็ประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลนกันอยู่แล้วและเห็นว่าแก้ปัญหาให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำ รพ.สต.ให้เพียงพอให้ได้ก่อน 

เปิดแนวทางสร้าง “หมอประจำถิ่น” หวังหมุนเวียนรพ.สต.แห่งละ 3 คน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาในงานวันปลอดภัยผู้ป่วยโลก ช่วงหนึ่งระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์ในชนบทขาดแคลน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยประชาชนต้องออกจากหมู่บ้านเหมารถไปโรงพยาบาล ตั้งแต่ตี 4 ไปที่อำเภอหรือจังหวัด เพื่อกดบัตรคิวรอจนได้ตรวจ บางคนรอถึงบ่าย 2 กลับถึงบ้านตอนบ่าย 3 

“ประชาชนจึงฝากผมมาว่า ค่าเช่ารถ 2,500-3,000 บาท ต้นทุนตรงนี้หนักหนา รพ.สต.ยังใช้แพทย์วน ใช้แพทย์จากอำเภอ จังหวัด หรือส่วนกลาง วนไปประจำที่ รพ.สต. จึงมีแนวคิดให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. ให้ได้แห่งละ 3 คน” 

นายสันติ กล่าว

สันติ บอกอีกว่า รพ.สต. ในประเทศไทย รวมแล้ว 8,500 ตำบล ควรมีแพทย์หมุนเวียนกว่า 25,000 คน หากลงทุนวันนี้ กว่าจะมีแพทย์ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี เป็นไปได้ไหมที่จะคัดเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในแต่ละจังหวัดมาสอบ เช่น จังหวัดนี้ใช้แพทย์ใน รพ.สต. 300 คน หาร 6 ปี ตกปีละ 50 คน คัดเอาเด็ก 50 คนเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งกว่าจะได้แพทย์มาลงพื้นที่ให้ครบต้องใช้เวลาประมาณ 12 ปีจากนั้นให้กลับมาทำงานที่อำเภอหรือตำบลในจังหวัดเดิม เพื่อให้ได้บุคลากรประจำถิ่นสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในพื้นถิ่น จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังแพทยสภา 

หากยอมทุ่มงบประมาณสักแสนล้าน ผลิตแพทย์ 25,000 คน คำนวณว่า คนละ 4 ล้านบาท เป็นเรื่องจำเป็น จะช่วยลดค่าเดินทางของคนในชนบทได้ เรื่องนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างยิ่ง หากเป็นโควิด แล้วมีแพทย์ประจำที่ รพ.สต. ก็ไม่ต้องเดินทางไกลไปที่จังหวัด ลดการแพร่เชื้อระหว่างทาง ถ้าคิดภาพรวมเสียเงินแสนล้าน ก็สร้างความปลอดภัย ลดต้นทุนในการดำรงชีพ นอกจากนี้ หากผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น มีแพทย์ที่เรียนเฉพาะทางได้ไปทำงานต่างประเทศ การส่งแรงงานทางการแพทย์ไปยังต่างประเทศ ก็เป็นการหาเงินเข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active