Soul Connect Fest 2023 พื้นที่แบ่งปันสุข-แบ่งเบาทุกข์ ในแบบฉบับคนรุ่นใหม่

หวังประชาชน-คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่เยียวยาใจในโลกที่วุ่นวาย แนะใช้เครื่องมือ ‘สุขภาวะทางปัญญา’ แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

วันนี้ (19 ส.ค. 2566) หลังพบระดับสุขภาพจิตในวัยรุ่นต่ำลงเรื่อย ๆ สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทิ้งให้คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้าอยู่กับความกดดันเพียงลำพัง เป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนตระหนัก ทำให้กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรม “Soul Connect Fest 2023” มหกรรมพบเพื่อนใจ ณ ลิโด้ คอนเนคท์ สยามสแควร์ ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคมนี้ โดยสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้เข้าถึงเครื่องมือและความรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา เพื่อดูแลตัวเองได้เมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในช่วงแรกของพิธีเปิดไว้ว่า ทาง สสส. ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของเยาวชนในทุกมิติ ทั้งทางกาย ใจ สังคม และปัญญา แต่สุขภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ต้องได้รับการส่งเสริมในทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะสุขภาวะทางปัญญาที่จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพจิต กาย และสังคมของเยาวชนดีขึ้นได้อย่างสัมพันธ์กัน และจากการที่ได้ Social Listening มาพบว่า การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนไม่สามารถแก้ไขได้เพียงใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการร่วมใจกันของทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมชี้ว่า ครอบครัวเป็นจุดแรกเริ่มของความสัมพันธ์และสุขภาพจิตของเยาวชนที่แข็งแรง แต่ขณะเดียวกัน ครอบครัวก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเปราะบางทางจิตใจในวัยรุ่นด้วยเช่นกัน

“ที่จริงส่วนที่ใกล้ชิดเยาวชนมากที่สุดคือครอบครัว และนั่นก็เป็นจุดอ่อนมากที่สุดด้วย เพราะว่าเวลาเกิดปัญหาอะไรส่วนมากมันก็จะเริ่มจากครอบครัว คำจำกัดความของคำว่าครอบครัวมันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ แต่การทำความเข้าใจทุกคนในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย… แต่มันเปลี่ยนได้ และมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแค่ใครฝ่ายหนึ่ง พ่อแม่ต้องเปลี่ยน ลูกเองก็ต้องเปลี่ยน เข้าหากันมากขึ้น เพียงแต่ว่าพ่อแม่จะเริ่มก่อนเพื่อลูกได้หรือไม่”

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร

เบญจมาภรณ์ เผยว่า ได้สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ก่อนที่จะได้เริ่มจัดงานนี้ขึ้น พบว่ามีมายาคติหลัก 8 ประการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เชื่อว่าเป็นเส้นทางของความสุข อาทิ ชีวิตในระบบทุนนิยม การบูชาวัตถุนิยม การสร้างภาพชีวิตที่ดีในสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจน ค่านิยมบูชาคนเก่ง เป็นต้น โดยความคิดเหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากโครงสร้างสังคมยุคใหม่ที่กดทับ ให้คนรุ่นใหม่ต้องเร่งพัฒนาตนเองให้มีคุณค่ามากพอในโลกทุนนิยมที่หมุนเร็ว ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าว Soul Connect Fest 2023 จึงคาดหวังให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และมีประสบการณ์ในการทบทวนตัวเอง สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งรอบตัวอย่างรู้เท่าทัน

ด้าน เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ศิลปินผู้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานกล่าวว่า แม้ในงานวันนี้จะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ แต่ตนมองว่าเราควรตระหนักปัญหาในทุกวัย เพราะปัญหาสุขภาพจิตและความเหงาหลังช่วงการแพร่ระบาดโควิด คนช่วงวัย 40 – 60 ปีมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเจน Z มีปัญหาสุขภาพจิตหนักที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQ+ พบว่ามีถึงราวร้อยละ 50 มีความคิดฆ่าตัวตาย ในขณะอีกที่ร้อยละ 13 ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายแม้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เขื่อนให้ความเห็นว่า เพราะปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากคนรอบข้างไม่มีการตระหนักรู้ที่มากพอ หรือผู้ที่มีปัญหาไม่กล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกภายในใจ ปัญหาก็จะยิ่งหนักขึ้น และเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองแก้ไขปัญหาอย่างโดดเดี่ยว

“เรื่องสุขภาพจิตมันไม่มีสเกล ไม่ต้องให้ใครมาวัดว่าอันนี้หนักหรือยังไม่หนัก ถ้าเราว่าเราไม่ไหวแล้ว เรากินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เริ่มคิดเยอะ รู้สึกเท่ากับรู้สึก แค่นั้นพอเลย แทนที่เราจะมาตั้งคำถามว่า ‘เด็ก ๆ มีปัญหาอะไรกัน’ เราควร Normalize ว่าปัญหาอะไรก็ได้ ถ้ามี ให้หาความช่วยเหลือได้เลย”

เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

นอกจากนี้ เขื่อนยังให้ข้อสังเกตในฐานะที่เป็นคนให้คำปรึกษากลุ่มวัยรุ่น พบว่า ปัญหาที่ทำให้การรับฟังเยาวชนไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมเป็นเพราะสังคมบางส่วนยังมีความคิดด้อยค่าว่า ‘ปัญหา’ เป็นปัญหาของ ‘เด็ก’ หรือ ‘ผู้ใหญ่’ เรามักใช้วัยอายุในการตีกรอบปัญหาและมองข้ามความรู้สึกของพวกเขาเหล่านั้นไป ทั้ง ๆ ที่ปัญหาของเด็ก ถ้าเขารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาก็ควรจะได้รับการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก ในขณะที่ปัญหาของผู้ใหญ่ก็จะถูกมองว่า ผู้ใหญ่นั้นเก่ง มีความสามารถมากพอที่จะแก้ไขเองได้ ทั้งที่ผู้ใหญ่เองก็มีความรู้สึก มีบาดแผล มีด้านที่อ่อนแอได้เช่นเดียวกัน วอนสังคมอย่าด้อยค่าปัญหาของใคร ให้รับฟังกันอย่างไม่ตัดสิน แล้วเราจะมองเห็นทางออกของปัญหานี้ได้

โดยกิจกรรมในวันนี้มีหลากหลายประเภท หลากหลายเนื้อหา โดยก่อนเข้าร่วมงานจะมีแบบทดสอบให้ผู้เข้าร่วมสามารถตัดสินใจในการร่วมกิจกรรมได้ตรงจุดปัญหามากขึ้น เช่น กิจกรรมเยียวยาจิตใจผ่านกลิ่น ผ่านการฟังเสียงธรรมชาติ ผ่านการจัดดอกไม้ หรือกิจกรรมเจริญสติ อย่างการออกแบบรูปงานศพ กิจกรรมตรวจสอบเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ กิจกรรมนั่งเฉย ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีสติอยู่ปัจจุบันขณะ ไม่จมดิ่งไปกับความรู้สึกที่ฟุ้งซ่าน ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องทางสุขภาวะทางปัญญาที่สามารถจับต้องและเรียนรู้ได้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active