ครั้งแรกในไทย จัดประชุมเครือข่าย ‘สุขภาวะทางปัญญา’

เดินหน้าพัฒนาระบบ โครงสร้างสุขภาพ นวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศ ย้ำยังมีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร ต่อยอดองค์ความรู้ ‘นักวิชาการ’ คาดปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แทน NCDs ‘สุขภาวะทางปัญญา’ จะเป็นความหวังป้องกันและแก้ไขปัญหา พาไปสู่ความสุขที่แท้จริง

วันนี้ (17 ส.ค. 2566) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ปรึกษาการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” ระบุว่า สุขภาวะทางปัญญามีลักษณะ 3 ประการ คือ 1) การมีความสุขยิ่งกว่าความสุขทางวัตถุใด ๆ 2) การประสบความงามจากการเข้าถึงความจริง และ 3) เกิดไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง มีความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งสามารถเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้จาก 15 เส้นทาง อาทิ การทำงานศิลปะ, การเรียนรู้ที่ดี การมีคุณธรรมประจำใจ และ การตายดี เป็นต้น

“คำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลก คือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด การจัดงานประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรก ๆ ของโลก มุ่งเป้าพัฒนาระบบ โครงสร้างสุขภาพ นวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศ ให้มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงประจักษ์”

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี

ด้าน สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ยังมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม และยังไม่มีการต่อยอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบในประเทศไทย การประชุมวิชาการระดับชาตินี้จึงเป็นครั้งแรกของการขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาของไทย โดยเน้นสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ปฏิบัติการ นักวิชาการ-นักปฏิบัติ และคนที่สนใจในประเด็นดังกล่าวร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรง แบ่งปันความรู้ร่วมกันเพื่อต่อยอดต่อไป

โดยคำว่า ‘ปัญญา’ ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ หมายความว่า ‘ความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความหมายของการมีสุขภาวะทางปัญญาไว้ว่า การที่มนุษย์มีศักยภาพและได้เติบโตงอกงามจากการพัฒนาด้านในอย่างลึกซึ้งและเกิดปัญญาในเข้าใจธรรมชาติของชีวิต อันนำไปสู่ชีวิตที่ดีงามและสมบูรณ์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

สมบุญ จารุเกษมวที คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยาคือการทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่าง ‘สุขภาวะทางปัญญา’ สามารถจับต้องได้ตามมุมมองของวิทยาศาสตร์ โดยเครื่องมือที่ใช้วัดจะเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยา ด้วยการวัดในลักษณะนี้ทำให้สุขภาวะทางปัญญามีลักษณะเป็นคุณลักษณะทางจิตวิทยาซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้เหมือนกับลักษณะนิสัย (Trait)

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ระบุคำจำกัดความของสุขภาวะทางปัญญาในนิสิต นักศึกษา จะมีทั้งสิ้น 7 ข้อด้วยกันคือ 1) ความสุขสงบในใจ 2) การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย 3) ความเมตตาต่อผู้อื่น 4) การเชื่อมโยงกับธรรมชาติและประสบการณ์เหนือตน 5) การชัดเจนในคุณค่าแห่งตน 6) การมีความหมายในชีวิต และ 7) การตระหนักรู้ความหมายของการเรียน/การศึกษา ข้อสุดท้ายมีความสำคัญต่อสุขภาวะในนิสิต นักศึกษา โดยเป้าประสงค์คือการที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ การศึกษาของตนนำไปต่อยอดประโยชน์และคุณค่าให้สังคม

สมบุญ กล่าวเสริมว่า หากเยาวชนมีต้นทุนภายใน 4 ข้อ ได้แก่ พื้นฐานครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเบ้าหลอม วิกฤติที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาตนเอง พื้นฐานส่วนบุคคล และการมีตัวแบบที่ดี ซึ่งพื้นฐานมาจากการมีสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น และสนับสนุนการอบรมในทางบวก ประกอบกับสถาบันการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาจิตใจ การทำกิจกรรมจิตอาสา หรือการมีรายวิชาที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและจิตวิญญาณ จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาวะทางปัญญาในนิสิตทั้ง 7 ข้อ เกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สมบุญ จารุเกษมวที

ขณะที่ รศ.รัตติกรณ์ จงวิศาล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การวัดสุขภาวะทางปัญญาจะช่วยให้คนในวัยทำงานสามารถมองเห็นจุดแข็ง-จุดอ่อนในตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร เช่นเดียวกันกับการวัดสุขภาวะทางปัญญาในกลุ่มนิสิต นักศึกษา ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความเปราะบางในจิตใจได้อย่างเท่าทัน เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความกดดัน ซึ่งพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกปัจจุบัน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย การมีเครื่องมือช่วยวัดสุขภาวะทางปัญญานั้น จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการเยียวยาฟื้นฟูนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกื้อหนุนสู่การมีสุขภาวะทางปัญญาในคนวัยทำงานมีอยู่ 4 ข้อด้วยกันคือ 1) ความเอื้ออาทร 2) กัลยาณมิตร 3) การสะท้อนใคร่ครวญ 4) กิจกรรมทางจิตวิญญาณ โดยปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางปัญญาและสภาวะบ่งชี้การมีสุขภาวะทางปัญญาในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการมีสุขภาวะทางปัญญาที่ดีจะช่วยให้ปัญหาทางจิตใจที่สังคมปัจจุบันเผชิญอยู่ทุเลาลงได้

“ต่อไปอนาคตปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจะมาเป็นอันดับ 1 แทนโรค NCDs ตอนนี้ไม่ใช่แค่นิสิตหรอกที่ซึมเศร้าเด็ก ทุกอาชีพตอนนี้มีปัญหา Burn-out, Depressed เพราะความสุขทางวัตถุมันเติมไม่เต็ม ทีนี้เราก็พบว่าเรื่องทางจิตวิญญาณน่าจะสำคัญ การรักษาแค่สุขภาพจิตมันอาจจะแค่ส่วนหนึ่ง เพราะการแก้ไขปัญหามันต้องทำหลาย ๆ วิธี แค่การให้ยา การให้คำปรึกษาไม่กี่นาทีบางทีมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพราะรากมันลึก เราเลยคิดว่าสุขภาวะทางปัญญาจะเป็นความหวังทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาของคนได้ หรือนำพาคนไปพบกับความสุขที่แท้จริง”

รศ.รัตติกรณ์ จงวิศาล
รศ.รัตติกรณ์ จงวิศาล

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานการจัดงานประชุมฯ กล่าวว่า ความพิเศษของการประชุมฯ ครั้งนี้ คือการสานพลังทั้งระดับปัจเจกและระดับสถาบัน/องค์กร จัดรูปแบบการประชุมวิซาการ ที่นำภาควิชาการและภาคปฏิบัติมาเชื่อมโยงเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่แยกเป็นงานประชุมวิชาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการสร้างสังคมสุขภาวะทางปัญญาต้องผ่านการลงมือปฏิบัติอีกด้วย

นอกจากงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2566 แล้ว ยังมีงานมหกรรมพบเพื่อนใจ “Soul Connect Fest” วันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา และเป็นโอกาสให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ได้โดยตรง

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active