สวนโมกข์ กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมเสวนา ‘เสรีภาพบนความตาย’ ขยายแนวคิดพินัยกรรมชีวิตเพื่อกำหนดแนวทางการดูแลแบบประคับประคองเฉพาะบุคคล จากแนวคิดพุทธทาสภิกขุ เพื่อการจากไปอย่างสงบโดยไม่ต้องยื้อชีวิต
วันที่ 18 ส.ค. 2566 หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ จัดกิจกรรมดูหนังสารคดี เสรีภาพบนความตาย และเสวนาถอดบทเรียน กรณีมรณภาพท่านพุทธทาส เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สู่ปรากฏการณ์ตายดีในปัจจุบัน ภายในงานนิทรรศการสื่อดิจิตัล ‘สติ space’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับการตั้งสติ รับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละขณะ หวังสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนในสังคม โดยไม่ต้องอิงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่อดีต แต่มีการโยงมาถึงปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่ที่อายุ 30-40 ปี อาจจะไม่เข้าใจว่าการมรณภาพของพระพุทธทาสทำให้เกิดประเด็นอะไรขึ้นในสังคม บางคนอาจจะสงสัยว่าเรื่องนี้เอามาทำเป็นสารคดีที่มีความยาวเป็นชั่วโมงได้อย่างไร แต่ถ้าได้ติดตามสารคดีก็จะทำให้ได้รู้จักอาจารย์พุทธทาสมากขึ้น ทั้งว่า ท่านเป็นใคร ท่านสอนอะไร และมีประเด็นอะไรในตอนที่ท่านกำลังจะมรณภาพ ทำไมถึงขอตายที่วัด ทำไมการไม่หอบสังขารหนีความตายมันดีตรงไหน ถ้าได้ดูวิดีโอเรื่องนี้ คงช่วยตอบคำถามได้พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการตายดี ในทัศนะของคนปัจจุบัน แม้วาระสุดท้ายของท่านจะไม่ได้ลงเอยตามที่ท่านปราถนา คือท่านไม่ต้องการให้มีการยื้อในโรงพยาบาล แต่ก็มีการทำแบบนั้น ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเข้มข้นรุนแรง เรื่องการตายดี หรือการที่อยู่อย่างยืนยาวจนกระทั่งตาย หลังจากที่ยื้อแล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือการที่ตายอย่างสงบแม้จะไม่มีการยื้อลมหายใจ อย่างคนที่ตายในไอซียู และทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการเตรียมตัวตาย ทั้งในแง่ของการเตรียมใจเพื่อเผชิญกับความตาย และเตรียมตัวในเรื่องของการทำพินัยกรรมชีวิต เพราะคนเราเมื่อมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย เราไม่ได้ทุกข์แค่กับโรค แต่ยังทุกข์กับกระบวนการที่คิดว่าเป็นไปเพื่อการรักษา เพราะสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย เช่น โรคมะเร็ง และการรักษานั้นก็อาจจะไม่สำเร็จ
“ผู้ป่วยระยะท้ายอย่างอาจารย์พุทธทาส หากยื้อด้วยการรักษาจะสร้างความทรมานยิ่งกว่าตัวโรค นอกจากนี้หากไม่ได้มีการเตรียมการวางแผนแล้วก็จะสร้างความทุกข์ความกังวลต่อผู้ป่วย การมีความห่วงหาอาลัย ปีติ ค้างคาใจ ทำให้การตายอย่างสงบเป็นไปได้ยาก แต่กรณีของท่านพุทธทาสทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการตายดี และหลายท่านก็เห็นว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญความตายช่วยทำให้ใจสงบในวาระสุดท้ายได้ ถ้ามีการเตรียมตัววางแผนทำให้การตายอย่างสงบเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งแนวคิดเรื่องการดูแลแบบประคับประคองก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ถ้ามีท่านพุทธทาสก็จะไม่ลงเอยแบบนั้น”
อ.ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา กล่าวว่า ตอนนั้นมีการถกเถียงกันมาก สื่อมวลชนก็ได้ทำให้มันเป็นประเด็นข่าว แต่เมื่อผ่านมา 30 ปี สังคมเรียนรู้เยอะขึ้นมาก เพราะนอกจากคำสอนที่ท่านได้เผยแผ่กรณีศึกษาการมรณภาพของท่านก็เป็นบทเรียนอย่างมาก และคิดว่าหนังสารคดีชุดนี้น่าจะได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง สำหรับคำว่า เสรีภาพบนความตาย มีมิติระหว่างปัจเจกบุคคลกับส่วนของสังคม กรณีท่านพุทธทาสเป็นกรณีที่ท่านก็รู้ว่าบรรดาลูกศิษย์ปรารถนาอะไร และท่านเองก็เคารพในความรู้สึกนึกคิดของคนเหล่านั้น เพราะทุกฝ่ายทุกส่วนก็มีความปรารถนาดีต่อท่านพุทธทาส และปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา สิ่งที่สังคมเรียนรู้ในวันนี้ทำให้มีความคลี่คลายมากขึ้น เราได้ทบทวนถึงเสรีภาพบนความตายมากขึ้น ทุกคนต่างก็ช่วยกันเลือกความหมายที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและบุคคลที่เป็นที่รักของเรา
“ถ้าเราทำให้เกิดความสำนึกรู้ว่าความแก่ความเจ็บความตายคือเป็นหนึ่งมิตรเรา ผมจะมีภาษาของผมว่า วันนี้เพื่อนมาเยี่ยมก็เลยมีปัญหานิดหน่อย เช่น ผมลืมบางเรื่องชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า ผมไม่รู้ว่านาฬิกามันแกะยังไง ลืมว่ามันต้องแกะแบบสองล็อค ก็ยืนคิดอยู่ชั่วขณะหนึ่งก่อนจะหัวเราะออกมาด้วยความขบขำชีวิตมากว่าความสามารถที่จะจดจำเพียงแค่การถอดนาฬิกาข้อมือมันยังลืม ดังนั้นสังขารร่างกาย สิ่งที่ใช้อยู่ทุกวันยังลืมได้เลย เป็นเครื่องเตือนแล้วว่าเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ชื่อความตายกำลังจะมาเยี่ยมเยือน ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมไว้แล้วว่าเพื่อนที่นัดหมายไว้จะมาเยี่ยมเยือนก็โปรดต้อนรับขับสู้”
นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ กล่าวว่า บทเรียนจากกรณีการมรณภาพของท่านพุทธทาสสร้างการเรียนรู้อย่างมาก พินัยกรรมท่านพุทธทาสถ้าได้อ่านจริงๆ จะพบว่าระบุแค่ว่าถ้าสิ้นแล้วจะจัดการยังไง สิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะอาพาธใหญ่ไม่นาน ซึ่งไม่ได้เขียนระบุถึงแนวทางการรักษาว่าจะต้องเป็นอย่างไร เมื่อหมอมาถึงเจออาการ ก็ต้องรักษาเพราะมีกรณีฟ้องกันมากมาย ดังนั้นเรื่องแรกคือพลาดที่ไม่ได้เขียนรายละเอียดต่อการปฏิบัติเมื่ออยู่ในระยะสุดท้าย และการพลาดเรื่องที่สองคือ หมอทุกคนที่ใกล้ชิดสรุปแล้วว่าท่านกำลังโคม่า และเขียนคำประกาศว่า เอากลับไปตายที่สวนโมกข์ แต่เอกสารฉบับนั้นไม่ถูกใช้เพราะถูกพาไปกรุงเทพฯ สิ่งที่พลาดคือในภาวะวิกฤตญาติสนิทหรือคนใกล้ชิด ไม่ได้อยู่ด้วย เพราะต่างคนต่างไปจัดการภารกิจของตัวเอง ระหว่างนั้นมีหมอที่ไม่เข้าใจในบริบทอย่างนี้ก็เลยเข้ามาจัดการตามแนวทางการรักษา
“สิ่งที่เราแก้สถานการณ์ได้ดีคือช่วงที่มาอยู่ที่ศิริราช ปฏิบัติการในห้องซีซียูทำกันเต็มที่แต่ผิดกับข้อตกลง ที่เราแก้ไขได้คือพยายามปรึกษาหารือเป็นการภายในถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และแจ้งต่อผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง คือ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อ.ประเวศ วะสี หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และ อ.วิจารณ์ พานิช สุดท้ายมีการทำหนังสือลงรายละเอียดถึงศิริราชว่า เมื่อคิดว่าไม่ไหวแล้วก็ให้บอกว่าไม่ไหวเถอะ แล้วก็ส่งกลับมา จะเห็นว่าจริงๆ แล้วความคิดเห็นของหมอก็มีความต่างกัน แต่ละคนก็บอกว่าต้องรักษาแบบนั้นแบบนี้ ถ้ารอคำวินิจฉัยของหมอก็จะมีความเห็นต่าง แต่ดีที่สุดคือต้องเขียนให้ละเอียด เขียนเจตนาให้ชัด บอกอย่างเดียวไม่พอ วันนี้ระบบเปิดแล้วมีเงื่อนไขตามกฎหมายที่ทำได้แล้วก็ต้องเขียนให้ชัดเจน และเตรียมจิตเตรียมใจของตัวเอง คนแวดล้อมให้ชัดเจน”