ห่วงขาดเครื่องมือแพทย์ – บุคลากร ทำระบบสุขภาพเหลื่อมล้ำหนัก

ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐหนุนผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ให้ทุน-ยกเว้นภาษี พร้อมจัดสรรบุคลากรทางแพทย์ ขยายพื้นที่ให้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้ครอบคลุม เผยผู้พิการ 15% ยังเข้าไม่ถึงเครื่องมือแพทย์ 

วันที่ 17 ก.ค. 2566 เสาวรัจ รัตนคำฟู  รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องเผชิญ หลายประเทศพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ เพื่อให้เครื่องมือแพทย์ราคาถูกลง โดยมีการสนับสนุนทั้งกลไกจากภาครัฐและเอกชน การให้ทุน การยกเว้นภาษี การพัฒนานโยบายให้เอื้อต่อการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ 

เสาวรัจ รัตนคำฟู  รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เช่น ในอินเดีย มีโครงการ Aravind eye care system ผลิตแก้วตาเทียมจากราคา 200 เหรียญ เหลือเพียง 2 เหรียญ หรือในสิงคโปร์ ซึ่งพบว่าได้ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้พิการมากที่สุด โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับมูลนิธิ และยังมีการสนับสนุนเชิงนโยบายให้งบประมาณกับผู้พิการในการเข้าถึงเครื่องมือช่วยเหลือด้วย

ขณะที่หลายประเทศมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพลดความเหลื่อมล้ำ เช่น เอสโทเนีย เดนมาร์ก และแคนาดา ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี เพราะมียุทธศาสตร์ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ส่งเสริมการยอมรับจากสาธารณะ รวมไปถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ

สำหรับประเทศไทย  เสาวรัจ มีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อสนับสนุนกลไกเสริมลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ โดยควรสนับสนุนทุนอย่างต่อเนื่องแก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ โดยมีเงื่อนไขการให้ทุนขึ้นกับผลการดำเนินงาน  เพื่อให้การทำงานสามารถวางแผนระยะยาวได้ ขณะที่หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ควรมีบทบาทสนับสนุนทุนให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรเพื่อสังคมที่ดำเนินงานด้านสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขควรลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายเช่น รับการถ่ายทอดโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (CASCAP), เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ควบคู่ไปกับการจัดสรรบุคลากรทางแพทย์, ขยายพื้นที่ให้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของ สปสช. ควรเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น การคัดครองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูป  นอกจากนี้ควรสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พักแก่ผู้ป่วยที่ยากจน ผู้ที่อยู่ห่างไกล และผู้พาการ ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ควรสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบการติดตามการรักษาและฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคในระดับประเทศ เพื่อให้เห็นภาพรวมของผู้ป่วยทั่วประเทศ และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายและปรับปรุงฐานข้อมูลกลาง ให้รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น จำนวนผู้ป่วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรเครื่องมือแพทย์และทรัพยากรสนับสนุนให้เหมาะสม

หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนผู้พัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อพัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น หรือผลิตเครื่องมือแพทย์ต้นทุนต่ำแต่ได้มาตรฐานสากล เช่น รากฟันเทียม ขาเทียม แขนเทียมและเครื่อง CT Scan  ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงสิทธิด้านสุขภาพและให้ความสำคัญในการเข้ารับบริการสุขภาพ

ส่วนข้อเสนอแนะต่อกลไกเสริมเพื่อขยายผลความสำเร็จนั้น ต้องเพิ่มแหล่งรายได้ของมูลนิธิ/องค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และความยั่งยืนในการดำเนินงาน เช่น หาโมเดลธุรกิจใหม่ การเผยแพร่ผลดำเนินงานสู่สาธารณะเพื่อจูงใจให้มีผู้บริจาคมากขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่ทันสมัย เช่น สื่อสังคมออนไลน์

อีกทั้งต้องขยายเครือข่ายดำเนินการ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น อสม. และ รพ.สต. เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมในการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อปรับการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความท้าทายของภาครัฐ รวมไปถึงกลไกเสริม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยทุกคนไม่ตกหล่นในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์”

ขาดเครื่องมือแพทย์ – บุคลากร ทำเหลื่อมล้ำหนัก  

ผลการศึกษาเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ (Digital health platform)”  ระบุ ผู้พิการ 15% จากผู้พิการทั้งหมดในไทย มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยผู้พิการ แต่ยังไม่ได้รับเครื่องช่วยที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยฟัง  วีลแชร์

ส่วนผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ภาคเหนือ ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา อย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาด้านความห่างไกลมากที่สุด  โดยตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่ใกล้ที่สุดไม่ควรอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านเกิน 22.5 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30 นาที

นอกจากนี้ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งพบว่าอัตราส่วนของเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญในการรักษาโรคต่อประชากรยังอยู่ในระดับปานกลางจนถึงต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนในประเทศจะพบว่า กรุงเทพฯ มีสัดส่วนเครื่องมือแพทย์ต่อประชากรสูงที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วน CT Scan, MRI, เครื่องสลายนิ่ว และรถพยาบาลต่อประชากรต่ำที่สุด ส่วนภาคใต้มีสัดส่วนเครื่องอัลตราซาวด์และเครื่องล้างไตต่ำที่สุด

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ และเมื่อเจาะลึกลงไปดูข้อมูลของ วิสัญญีแพทย์ พบว่า จังหวัดอำนาจเจริญ มีสัดส่วนประชากร 376,350 คน ต่อวิสัญญีแพทย์ 1 คน ขณะที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากร 8,678 คน ต่อวิสัญญีแพทย์ 1 คน ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 43 เท่า  

ส่วนสาขาที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางมากเป็นพิเศษ ได้แก่พยาธิวิทยา ซึ่งมีถึง 29 จังหวัดที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านพยาธิวิทยา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active