“ผอ.รพ.จุฬาฯ” แนะ สร้างโรงพยาบาลเครือข่ายเรียกความเชื่อมั่นคุณภาพการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการปฐมภูมิ ด้าน “ผอ.รพ.ศิริราช” ชี้ ประชาชนต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการดูแลสุขภาพ ขณะที่ “ผอ.รพ.ราชวีถี” เสนอรีแบรนด์ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.
วันนี้ (7 มิ.ย. 2566) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อออกแบบระบบบริการร่วมกัน ภายหลัง กทม. มีแผนเดินหน้าแบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซน หรือ Bangkok Health Zoning
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Bangkok Health Zoning ว่า การสาธารณสุข กับ การศึกษา เป็น 2 เรื่องใหญ่ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ แต่มีข้อสังเกตว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมความเจริญทางการแพทย์ แต่การประสานงานยังไม่ค่อยดี จะทำอย่างไรให้ประสานงานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงมีการแบ่งเป็น 7 โซน มีโรงพยาบาลแม่ข่าย สังกัด กทม. โรงพยาบาลพี่เลี้ยง สังกัดโรงเรียนแพทย์ เอกชน และสาธารณสุข
“ยอมรับว่าแต่ละโรงพยาบาลก็มีภารกิจต่างกัน การชวนมาร่วมทำงานก็ต้องทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย อาจใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการพัฒนาคุณภาพ โดยนโยบายสุขภาพ กทม. ก็คงต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่ช่วยมาดูเรื่องนี้ด้วย”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. บอกถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของ Bangkok Health Zoning คือ
- ความแออัดในโรงพยาบาลลดลง
- ผู้ป่วยได้รับการบริการเร็วขึ้น
- ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่
- เมื่อระบบเทเลเมดิซีนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้มีผู้ใช้บริการหน่วยปฐมภูมิมากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายโรงพยาบาล ต้องอาศัยความเชื่อใจจากประชาชน ให้มั่นใจว่าจะได้รับการรักษาคุณภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่ความเป็นเครือข่ายจะไม่เกิดขึ้น หากหน่วยบริการปฐมภูมิไม่เข้มแข็ง โจทย์สำคัญคือต้องใช้สถานพยาบาลให้เหมาะสมกับผู้ป่วย และมีระบบช่วยเหลือกัน โดยสิ่งที่อยากให้ กทม. ทำ คือบอกบทบาทของโรงพยาบาลพี่เลี้ยงให้ชัดเจน และในแต่ละโซนสุขภาพอาจจะปัญหาต่างกัน จำเป็นต้องออกแบบต่างกันไป
ด้าน ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงทางเลือกของการให้บริการ ถ้าเพิ่มการเข้าถึงแล้วคุณภาพจะเป็นอย่างไร และการจำกัดการเข้าถึงบริการ จะมีคุณภาพการรักษามากกว่า คุณค่าของระบบควรเป็นแบบไหน พร้อมเห็นด้วยกับการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาล อาจจะเป็นเครือข่ายเฉพาะโรค และเรื่องสำคัญที่ กทม. ควรเตรียมไว้ คือการควบคุมโรคระบาด เพราะมั่นใจว่าจะมีอีก รวมถึงการเกิดภัยขนาดใหญ่ ก็ควรจะมีแผนรองรับ
อีกข้อเสนอ คือ กระจายอำนาจทางการแพทย์ ในแต่ละเขตควรมีคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ ที่โฟกัสปัญหาสุขภาพที่ต่างกันไป เช่น บางเขตมีผู้สูงอายุมาก บางเขตเป็นแหล่งมลพิษ
“อีกเรื่องคือ การทำโฮมวอร์ด ในเรื่องนี้ อาสาสมัครสาธารณสุข และญาต ต้องวางเป้าหมายว่าจะมีส่วนร่วมอยา่งไร เรื่ององค์ความรู้ รร.แพทย์ช่วยได้ เหล่านี้ คือ New Paradigm health care (กระบวนทัศน์ใหม่ด้านการดูแลสุขภาพ) ถ้าไม่ทำ แบบนี้กรุงเทพจะมีสุขภาพดีไม่ได้ …”
ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า นโยบายสุขภาพดี ต้องทำครบ ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โดยเฉพาะการรักษาเป็นสิ่งที่เห็นผลกระทบใกล้ที่สุด มี 2 ประเด็น 1. การลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ระดับตติยภูมิ ผู้มาใช้บริการ รอคอยนาน และ 2. การดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน
ประเด็นแรก การลดความแออัดในโรงพยาบาลนั้น รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 1.1 ล้านครั้งต่อปี 80% มีอาการอยู่ในขั้นที่เข้ารับการรักษาได้ใน รพ.ระดับทุติยภูมิ ยังไม่ถึงขนาดต้องมาที่ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็น รพ.ระดับตติยภูมิ และมีเพียง 20% ที่มีอาการต้องรักษาในระดับตติยภูมิจริง ๆ ดังนั้น แทนที่โรงพยาบาลตติยภูมิจะมีเตียงสำหรับคนไข้ที่หนักจริง ๆ ก็อาจถูกเบียดบังไป จึงมองว่าการจัดบริการให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ในแต่ละเคสเป็นเรื่องจำเป็น
“สิ่งนี้เราต้องมี buffer area หรือ หน่วยบริการทุติยภูมิที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมาใช้บริการ อาจจำเป็นต้องรีแบรนด์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สร้างการรับรู้กับประชาชนให้มากขึ้น ว่ามีการยกระดับการให้บริการ ให้ประชาชนเชื่อมั่น และเข้ามาใช้บริการมากขึ้น”
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์
นอกจากนี้ การจัดระบบสุขภาพที่ดี เสริมสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง อาจเป็นหนึ่งในแนวทางลดภาระงานแพทย์ ในเวลานี้ด้วย