“คนเก็บขยะ” เข้าข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพเสี่ยงสูง

กรมควบคุมโรค เร่งพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพิ่มการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย  ลดความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ

วันนี้ (23 มี.ค. 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการเสริมศักยภาพกลไกการทำงานเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในแรงงานนอกระบบ 

โดยพบว่า แรงงานนอกระบบ 5 กลุ่มอาชีพเสี่ยงสูง ได้แก่ 

  • เกษตรกร  
  • แกะสลักหิน
  • เก็บและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ 
  • ขับรถรับจ้าง 
  • ตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้า 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศโดยมีถึง 52% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงระบาดและหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เกิดอาชีพอิสระ ที่ทำงานแบบชั่วคราว จบเป็นครั้ง ๆหรือ Gig worker และกลุ่มรับจ้างส่งของ ส่งอาหาร (delivery job) เพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งของแรงงานนอกระบบจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยมีถึง 11.4 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงจากการทำงาน เนื่องจากไม่มีระบบบริหารจัดการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และยังขาดการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานก่อนป่วย 

แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 6 เขตสุขภาพ 14 จังหวัด ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 1 (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง) เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น) เขตสุขภาพที่ 8 (จังหวัดอุดรธานี) เขตสุขภาพที่ 9 (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์) เขตสุขภาพที่ 10 (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร) และเขตสุขภาพที่ 12 (จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง) โดยมีชุดกิจกรรมและนวัตกรรมต่างๆ  เช่น  application เพื่อเพิ่มความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ หลักสูตรอาชีวอนามัยพื้นฐาน E-learning สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมไปถึงการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานนอกระบบอย่างยั่งยืนต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active