สรพ. ปรับเกณฑ์ประเมินสถานพยาบาลใหม่

กำหนดให้สร้างเครือข่ายแพทย์ปฐมภูมิ – Telemedicine – ฟื้นฟูชุมชน หนุนขับเคลื่อน sandbox ระบบสุขภาพ กทม. วางมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ทลายข้อจำกัดหน่วยงานข้ามสังกัด 

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) 

วันนี้ (23 ม.ค. 2566) พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร(กทม.) หรือ Sandbox ระบบสุขภาพ ว่า กทม. มีระบบสุขภาพที่แตกต่างจากต่างจังหวัดที่มีเครื่อข่ายพื้นที่โดยเฉพาะขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณาสุขทั้งหมด แต่โรงพยาบาลใน กทม. มีความหลากหลายสังกัดทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยกระทรวงสาธารสุข และเอกชนเป็นต้น เป็นแหล่งที่มีโรงพยาบาลเยอะมาก แต่ไม่เกิดความเชื่อมโยง ดังนั้นกลไกเรื่องของเฮลท์แคร์เน็ตเวิร์ก จึงมีความสำคัญมากสำหรับ กทม. 

ใน Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. แม่ข่ายที่วางไว้คือโรงพยาบาลหลักในสังกัดกทม. ระดับตติยภูมิ  โดยมีระดับปฐมภูมิเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ สรพ. คุยเรื่องนี้กับ กทม.​ แล้วจะเข้าไปช่วยสร้างมาตรฐานในส่วนของปฐมภูมิ ของศูนย์บริการสาธารณสุข ขณะที่โรงพยาบาลสังกัดกทม.ทั้ง 11 แห่งผ่านมาตรฐานโรงพยาบาล HA แล้วทุกแห่ง แต่ปัจจุบันมี ศบส. หลักสิบกว่าแห่งเท่านั้นที่ผ่านมาตรฐาน HA จากที่มีทั้งหมด 69 แห่ง เรากำลังจะตั้งเป้าร่วมกันว่า ศบส. จะต้องผ่านการประเมิน HA ครบทั้ง 69 แห่งในปีไหน

พญ.ปิยวรรณ บอกอีกว่า ทั้ง สรพ. และ กทม. กำลังทำงานร่วมกันสร้างโมเดลให้เกิดการทำงานรูปแบบเครือข่าย คือการส่งต่อระบบบริการและการเชื่อมโยงทั้งหมด โดยแม่ข่ายก็ยังเป็นโรงพยาบาลในสังกัด กทม. และอนาคตโรงพยาบาลสังกัด กทม. อาจไปเชื่อมโยงกับ โรงพยาบาลนอกเครือข่ายได้ ถ้าหากเราทำงานแบบเครือข่ายโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย

“การใช้กลไกลเหล่านี้มันจะลดข้อจำกัดเรื่องข้ามสังกัด เกิดการพูดคุยร่วมกันและเขียนโครงสร้างของเครือข่ายขึ้นมา”

ขณะเดียวกันยุคหลังโควิด-19 เราได้บทเรียนและเห็นจุดอ่อนของระบบ และเห็นว่าควรปรับปรุงการประเมินระบบสุขภาพ จึงทำให้หนึ่งในมาตรฐานของการประเมินโรงพยาบาลที่เรียกว่า “HA” ก็คือการสร้างเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งในอดีตไม่มี

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสุขภาพในกทม. เพราะทำให้รู้ว่า ศบส. มีความสำคัญมาก และทุกคนตื่นตัว มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และมีโอกาสที่จะผ่านการรับรองเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต“ 

มีโรงพยาบาลกี่แห่ง ที่ผ่านมาตรฐาน HA 

ประเทศไทยมีโรงพยาบาลทั้งหมด 1,490 แห่ง เข้าร่วมการประเมิน HA จำนวน 1,124 แห่ง และผ่านการประเมิน 889 แห่ง ทั้งนี้การเข้าร่วมการประเมินยังเป็นแบบอาสาสมัคร ยังไม่เข้าสู่กระบวนการบังคับตามกฎหมาย ซึ่งโดยปกติโรงพยาบาลทุกแห่งที่เปิดดำเนินการต้องจัดตั้งตามระเบียบกฎหมาย และขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลที่ยังไม่ผ่านการประเมินบางส่วนก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงในผ่านการประเมิน แต่ส่วนใหญ่มี 3 สาเหตุที่ประเมินไม่ผ่าน 1. เรื่องกฎหมายการขึ้นทะเบียน 2. ระบบความปลอดภัย และ 3. การนำเหตุการณ์มาถอดบทเรียนป้องกัน ซึ่งโรงพยาบาลที่ไม่ผ่านการประเมิน สรพ.ไม่สามารถนำรายชื่อมาเผยแพร่ได้ เพราะไม่ใช่องค์กรกำกับดูแลเป็นเพียงหน่วยงานวิชาการเท่านั้น 

ปรับเกณฑ์ประเมินโรงพยาบาล สร้างเครือข่ายปฐมภูมิ ดูแลชั่วโมงการทำงานแพทย์ 

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต และการให้บริการสุขภาพแบบ New Normal หลายอย่าง ซึ่งบางเรื่องต้องมีการทบทวน เช่น การปรับระบบไปรองรับผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก ทำให้มีผู้ป่วยโรคอื่นถูกเลื่อนการรักษาและอาการแย่ลงกว่าเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องทบทวนตรงนี้ และเห็นว่าโรงพยาบาลใหญ่ ก็ควรมีบทบาทสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิ ผ่านการสร้างเครือข่ายการทำงานแบบไร้รอยต่อ 

สอดคล้องกับนโยบายทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น ใส่มาตรฐานในเรื่องของ Telemedicine ซึ่งเป็นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มการเข้าถึงในสถานบริการ และการดูแลอย่างต่อเนื่องรวมถึงการนำปัจจัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเข้ามาใส่ในมาตรฐาน เช่นชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทาการแพทย์ เพื่อให้สถานพยาบาลเห็นความสำคัญในชั่วโมงการทำงานของบุคลากร.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active