ข้อมูลหลายด้านชี้เหตุจากปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ขณะที่ประชาชนภาคเหนือเสี่ยงป่วยสูงกว่าภาคอื่น 3-4 เท่า แนะสังเกตไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือนให้รีบพบแพทย์
กลายเป็นกระแสที่สังคมสนใจภายหลัง แพทย์หนุ่มอนาคตไกล อายุ 28 ปี ป่วยเป็น มะเร็งปอด ระยะสุดท้าย แบบไม่ทันตั้งตัว โดยที่ผ่านมาดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ขณะเดียวกัน ข้อมูลสถิติประชาชน ใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ป่วยเป็นมะเร็งปอด และ เสียชีวิตสูงเป็น อันดับ 1 ของประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยเป็นเมืองที่ติดอันดับอากาศแย่สุดของโลกเป็นประจำทุกปี
วันนี้ (11 พ.ย. 2565) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง
แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 คน เป็นเพศชาย 10,766 คน และเพศหญิง 6,456 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 คน หรือคิดเป็น 40 คนต่อวัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
กรณี พยาบาล จ.ลำพูน ป่วยเป็นมะเร็งปอด
เมื่อปี 2563 วาสนา วัฒนากร ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดใหญ่บริเวณปอดตอนตรวจสุขภาพปลายปี เธอเต็มไปด้วยความสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นมะเร็งปอดเพราะในบ้านไม่มีใครสูบบุหรี่ อดีตนางพยาบาลคนนี้ ชอบออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนอกบ้าน เธอเกิดและเติบโตมาจังหวัดลำพูน และเคยชินกับการเผาตอนนั้นยังไม่ทันคิดว่าไฟป่า คือฝุ่นพิษ
“มันป่วยได้จริง มันทำให้เราลำบากจริง”
สถานบันวิจัยมะเร็ง IARC องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง และ PM 2.5 มีสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอันตรายมากที่สุด และยังมีงานศึกษาที่ระบุว่า การรับหรือสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่ระดับ 22 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร เท่ากับสูบบุหรี่ 1 มวน นอกจากนี้ข้อมูลจากโรงพยาบาลมหาราช พบว่า ประชาชนในภาคเหนือป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น 3-4 เท่า
ก้าวแรก การสอบสวนโรคที่มาจากฝุ่น
ระบบสาธารณสุขไทย ยังไม่เคยมีการสอบสวนโรคที่คาดว่ามีสาเหตุจากฝุ่นมลพิษทางอากาศมาก่อน จนกระทั่ง ปี 2562-2563 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นำร่องให้โรงพยาบาลเครื่อข่าย ในกทม.และ ปริมณฑล 22 แห่งทำการสอบสวนโรคและพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น ไปแล้ว 3,409 คน ในจำนวนนี้ผู้ป่วยที่มาในแผนกฉุกเฉินจะมากกว่า ผู้ป่วยนอก เพศชายสูงกว่าเพศหญิง และอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด รองลงมา 50-59 ปี และ 0-4 ปีโดยสอบสวนจากผู้ที่มีโรคประจำตัว หอบหืด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคทางเดินหายอื่น ๆ ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ต้องแสดงอาการเมื่อสัมผัสกับฝุ่น
ตัวเลขนี้มีการตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่าอาจดูน้อยกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของระบบสาธารณสุขในการสอบสวนโรคที่ระบุลงไปอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีการวินิจฉัยน้อยมาว่าฝุ่นเป็นสาเหตุปัจจุบันมีการจัดทำรหัสโรคที่เกี่ยวกับมลพิษ 15 โรค เพื่อเป็นข้อมูล ให้หน่วยงาน หรือผู้ที่ต้องกำกับดูแล ลดมลพิษทางอากาศ ได้มีข้อมูลไปจัดการมากขึ้น
ไอเรื้อรัง 1 เดือนสัญญาณเตือน “มะเร็งปอด”
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย
โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอกอ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์
ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่