ที่ปรึกษา รมว.สธ. ค้าน สปสช. ใช้งบส่งเสริมและป้องกันโรคกับคนทุกสิทธิ์

บอร์ด สปสช.ภาคประชาชน จี้ “อนุทิน” เร่งลงนามหลักเกณฑ์บริหารกองทุนฯ ปี 2566  หวั่นเกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ย้ำการเพิ่มขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิ์ ผิดหลักการป้องการโรคที่ครอบคลุมทุกคน 

โดยปกติแล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค (PP) ไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งเบิกได้กับคนทุกสิทธิ์ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์ “ประกันสังคม” หรือ ”ข้าราชการ”  ยกตัวอย่าง เช่น การคัดกรองโรคเบาหวาน คนทุกสิทธิ์สุขภาพ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจเลือดเพื่อคัดกรอง HIV คนทุกสิทธิ์ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยใช้งบประมาณจาก สปสช. อีกกรณีหนึ่งคือ“วัคซีน” เพื่อป้องกันโรคระบาด คนทุกสิทธิ์สุขภาพก็ใช้บริการได้โดยไม่เสียเงินเช่นกัน 

ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า “การป้องกันโรค” นั้นต่างจาก “การรักษาโรค” ซึ่งจะไปเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ในแต่ละกองทุนสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมี 3 กองทุน คือบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม 

วันนี้ (7 พ.ย. 2565) นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน เปิดเผยว่า การประชุมครั้งที่ 11/2565 ของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวาระที่สำคัญ คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2566 ที่ยังไม่ได้เซ็นลงนาม

อย่างไรก็ตาม โดยปกติงบประมาณต้องเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เมื่อประกาศออกไม่ทันก็จะกระทบผู้ไปใช้บริการ เพราะโรงพยาบาลยังไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ ทำให้การรักษาล่าช้าได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ถูกโต้แย้ง หรือสาเหตุที่ยังไม่มีการลงนาม คือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เสนอว่า งบประมาณส่งเสริมป้องกันโรค (PP) ที่ผ่านมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ์นั้น ไม่ถูกต้อง จะต้องดูแลสิทธิผู้ถือบัตรทอง (UC) เท่านั้น จึงเสนอไม่ให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ทั้งที่ จากเดิมตั้งแต่จัดตั้งกองทุนขึ้น งบที่มีนี้เพื่อคนไทย 66 ล้านคน

นิมิตร์ กล่าวว่า ขอบเขตของประกาศฯ บอกว่างบส่งเสริมป้องกันโรคหมายรวมถึงคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา ก็จัดงบประมาณเพื่อมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทุกคน กรรมการทุกชุดก็เห็นชอบมาตลอด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงจากที่ปรึกษารัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า ประกาศนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง 

ในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเป็นบอร์ด ทั้ง 5 คน ก็เป็นกังวล เพราะหากไม่เซ็นอนุมัติประกาศฉบับนี้ ผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ที่ต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ก็ต้องตรวจสอบสิทธิ์ก่อนว่าบัตรทองไหม ไม่ใช่บัตรทองเบิกไม่ได้ หรือการฝากครรภ์สำหรับผู้หญิงทุกคน การตรวจเอชไอวี จะกลายเป็นปัญหาว่า ต่อไปนี้การส่งเสริมป้องกันโรค จะขอเลือกให้เฉพาะคนที่มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น  

“หลักการสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค คือ ดูแลคนทุกคน ที่ผ่านมาระบบหลักประกันฯ ก็ยึดหลักการนี้เป็นสำคัญที่ต้องดูแลทุกคนทุกสิทธิ์ ไม่มีข้อยกเว้น” 

นิมิตร์ ไม่ปฏิเสธว่า ความกังวลเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องคิดถึง ที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ระวังและพยายามหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุมแจ้งว่า ทีมที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีอ้างว่ามีหน้าที่ปกป้องรัฐมนตรี จึงต้องมั่นใจว่า สิ่งที่เซ็นต้องไม่ผิดกฎหมาย จึงเหมือนกับว่า ทำลายหลักการการป้องกันโรคของคนทุกคน เพื่อปกป้องคนเพียงคนเดียวโดยไม่สนใจว่าระบบกลไกการส่งเสริมป้องกันโรคจะพังหรือไม่  

นิมิตร์ ให้ความเห็นว่า กรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า ต้องยืนยันเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับทุกคน เพราะเชื่อและปกป้องในระบบหลักประกันสุขภาพ จึงมีมติให้ลงนามประกาศดังกล่าวทันที ซึ่งสิ่งที่ต้องการให้สาธารณะช่วยจับตามองคือ รมว.สธ. จะมีวิจารณญาณในการลงนามอย่างไร เมื่อบอร์ดมีมติแล้วว่าให้ลงนามในทันที  

ด้าน สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล หนึ่งในบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นบรรยากาศความกลัวที่ว่าจะทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จนลืมไปว่าประชาชนของประเทศนี้ต้องการสิทธิ์ที่จะดูแลสุขภาพของทุกคน หากประธานฯ ก็คือ รมว.สธ. ไม่สามารถเซ็นได้ เลขาธิการ สปสช.จะเป็นผู้ลงนามตามมติแทน และอาจเป็นร่างประกาศครั้งแรกที่ เลขาธิการ สปสช. ลงนาม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active