สังคมพร้อมใจไม่เอา “เมาขับ ชนคนตาย” รอรัฐขานรับและจริงจัง

นักวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะภาครัฐส่งสัญญาณให้ชัดเจน “หยุดการดื่มแล้วขับหรือขี่” ท่ามกลางปัญหาที่รุนแรงขึ้น จากทัศนคติ และค่านิยมที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สอดแทรกอยู่ในแทบทุกกิจกรรม

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย เปิดเผยว่าจากปรากฎการณ์ ผู้รักษาประตูทีมฟุตบอลชลบุรีเอฟซี เมาขับชนคนที่ออกมาเดินออกกำลังกายตอนเช้ามืดเสียชีวิต โดยผลตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดคนขับสูงถึง 184 mg% ซึ่งสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดเกือบ 4 เท่า หลังเกิดเหตุทางสโมสรต้นสังกัดได้แสดงความรับผิดชอบโดยประกาศให้หยุดลงสนามจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด

ขณะที่กระแสสังคมรวมถึงแฟนฟุตบอล ได้ออกมาเรียกร้องถามหา “ความรับผิดชอบ” จากต้นสังกัดในการลงโทษที่มากกว่าหยุดลงสนามและเป็นความรับผิดชอบที่ทัดเทียบกับวงการฟุตบอลระดับสากล เช่น นักฟุตบอล ในต่างประเทศ ที่แฟนบอลบ้านเรารู้จักเมื่อมีข่าวเมาขับ อาทิ เวย์น รูนีย์ นักเตะชาวอังกฤษก็เคยถูกจับฐานเมาขับ แม้ไม่ได้ขับไปชนใครแต่ถึงกระนั้นต้นสังกัดก็สั่งตัดเงินค่าเหนื่อย 2 สัปดาห์ทันที หรือ “เรนาน” แบ็กซ้าย อนาคตไกลชาวบราซิล ก่อเหตุเมาขับชนผู้ขี่จักรยานยนต์เสียชีวิต ทำให้ถูกยกเลิกสัญญา เช่นเดียวกับนักบอลอาชีพในลีกอเมริกันฟุตบอล เฮนรี รักก์ส ปีกดาวรุ่งทีมลาส เวกัส เรดเดอร์ส เมาขับชนรถอีกคันไฟลุกไหม้เสียชีวิต ถูกจับ ซึ่งโทษสูงสุดของเมาขับชนคนตายที่ลาสเวกัสก็ 20 ปีและต้นสังกัดยกเลิกสัญญา ซึ่งเหล่านี้ถูกหยิบยกมากดดันและเรียกร้องการตัดสินใจ จนสุดท้ายต้นสังกัดสโมสรฟุตบอลชลบุรีเอฟซี ต้องตัดสินใจยกเลิกสัญญาในที่สุด  

“ครั้งนี้ เพราะผู้ที่เมาขับไปชนคนตาย เป็นที่รู้จัก และ “ต้นสังกัด” ของบุคคลก็เป็นที่รู้จักของคนในสังคม กระแสความรู้สึกหรืออารมณ์สังคม (social sentiment) จึงพุ่งเป้าไปที่ “ท่าที” ของต้นสังกัด ว่าจะปกป้องช่วยเหลือหรือจะตัดสินใจอย่างไร ที่น่าสนใจคือ สังคมได้เรียนรู้และนำแบบอย่างของต่างประเทศมาประกอบการสะท้อนความเห็นต่อ “ต้นสังกัด” ของนักฟุตบอลว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร ? ซึ่งต้องขอบคุณต้นสังกัด สโมสรชลบุรีเอฟซี ที่เลือกการยกระดับบทลงโทษเทียบเท่าวงการฟุตบอลสากล ถือเป็นการ  “สร้างบรรทัดฐาน”  ครั้งสำคัญในวงการกีฬาและที่สำคัญในการจัดการปัญหาเมาขับ ที่ฝังรากลึกกับสังคมมายาวนาน” 

นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ปรากฎการณ์ “เมาขับ” เกิดจากหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงทัศนะและวัฒนธรรมของสังคม ดังจะเห็นได้จาก ผลสำรวจทัศะสังคมที่ผ่านมาจะพบผู้ตอบส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า “ดื่มแอลกอฮอล์แต่คิดว่ายังขับได้ถ้ามีสติ” (ข้อมูลสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ในช่วง 10 ปีก่อนพบสูงถึง 1/5 หรือร้อยละ 20 ระบุว่าแม้ดื่มก็ขับได้ถ้ามีสติ และมีถึง 1/3 ที่ระบุว่าเคยดื่มแล้วขับในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา) นอกจากนี้ จะพบเห็นการดื่มกับกิจกรรมในสังคมทั้งงานบุญประเพณี งานรื่นเริง ที่มักควบคู่กัน ยิ่งระยะหลังๆ มีความพยายามของธุรกิจแอลกอฮอล์โหมโฆษณา เจาะกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ กลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานตอนต้น โดยเน้นจุดขายที่เชื่อมโยงการดื่มกับความเป็นเพื่อนฝูง มิตรภาพ การเฉลิมฉลอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้การสื่อสาร การห้ามปรามตักเตือนกันในหมู่เพื่อนกระทำได้ยาก เห็นได้จากมีน้อยคนที่กล้าปฏิเสธเพื่อนว่าจะไม่นั่งรถไปด้วยเพราะเห็นว่าดื่มแอลกอฮอล์มา และแทบจะเป็นปกติที่จะเห็นการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรากฎอยู่ในกิจกรรมต่างๆ หรืองานไหนไม่มีกลายเป็นเจ้าภาพขี้เหนียว เป็นต้น แต่หลังการดื่มสังสรรค์ถ้ายังปล่อยให้คนเมามาขับรถ ก็มักจะเกิดผลกระทบตามมา

ในภาพรวม จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance) กองป้องกันบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค สะท้อนให้เห็นสัญญาณอันตรายของปัญหาเมาขับ ที่พบว่าสัดส่วนร้อยละ (%) ของผู้เสียชีวิตจากดื่มขับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) และยิ่งน่ากังวลเพราะข้อมูลการเจาะเลือดตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรง พบว่าครึ่งหนึ่ง (50%) มีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด



นายแพทย์ธนะพงศ์ ระบุว่า ขณะนี้สังคมกำลังเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาเมาขับ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากคนเมาขับทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับทัศนะและค่านิยมต่าง ๆ ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สอดแทรกเข้ามาในแทบจะทุกกิจกรรมของสังคม  ซึ่งสภาพความเป็นจริง คงไม่สามารถหยุดการดื่มได้ แต่ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรทั้งภาครัฐและสังคมจะช่วยกัน “หยุดการดื่มแล้วขับหรือขี่”

จากกรณีนักฟุตบอลสโมสรชลบุรีเอฟซี ก็เริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่หันกลับมามองภาครัฐ ยังไม่มีสัญญาณการจัดการปัญหาเมาขับที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน  จึงมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
1)   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   
1.1      เร่งกำหนดค่าเป้าหมายการตั้งด่านเมาขับ ในทุกพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการดำเนินคดีเมาขับ โดยเฉพาะการตรวจวัดแอลกอฮอล์ภายในระยะเวลากำหนด ห้ามละเว้น (ถ้าละเว้นต้องระบุสาเหตุความจำเป็น พร้อมมีคณะกรรมการตรวจสอบ)
1.2      กำหนดให้คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายฯ ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด มีการกำหนดวาระเรื่องปัญหาเมาขับ เพื่อกำกับติดตามผลการดำเนินงานทุกสถานีตำรวจภูธร โดยเทียบผลการบังคับใช้กับปัญหาผลกระทบ (ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเมาขับ)
1.3      กรณีมีการเสียชีวิตการเมาขับ ต้องมีการสอบสวน-วิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกที่เชื่อมโยงไปสู่ต้นสังกัดหรือต้นทาง พร้อมนำข้อมูลมาเสนอในที่ประชุมเพื่อวางมาตรการจัดการปัญหาต่อไป 

2)   ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  (ศปถ.)
 2.1  กำหนด ศปถ.จังหวัด/ศปถ.อำเภอ/ศปถ.อปท. มีวาระติดตามเรื่องเมาขับอย่างต่อเนื่อง
 2.2  ในระดับท้องถิ่นชุมชน พิจารณากำหนดให้มีมาตรการหรือข้อบัญญัติชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาเมาขับ เช่น ถ้าดื่มขับ ผู้ใหญ่บ้านไม่ช่วยเรื่องรับประกันตัว หรือไม่สามารถกู้ยืมเงินหมู่บ้าน หรือกติกางานกีฬาปลอดเหล้า ฯลฯ

3)   ระดับหน่วยงาน-องค์กร การนิคม ฯลฯ
3.1  กำหนดให้มีมาตรการระดับหน่วยงานทุกแห่งที่จะจริงจังกับปัญหาเมาขับ เช่น งานปีใหม่ปลอดเหล้า-ถ้าจะมีต้องมีรถรับส่ง
3.2  มีบทลงโทษเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมให้บุคคลกรเซ็นรับรู้

4)   รัฐบาล
4.1  กำหนดนโยบายและเป้าหมายที่หน่วยงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานหลักต่าง ๆ ต้องบรรลุในการแก้ปัญหาเมาขับให้ชัดเจน
4.2  กำกับติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องรายเดือนหรือรายไตรมาส ไม่เฉพาะการรายงานปีละครั้ง
4.3  กรณีมีนโยบายที่อาจจะกระทบต่อปัญหาเมาขับให้เพิ่มมากขึ้นได้ เช่น นโยบายปิดผับตี 4 พื้นที่ท้องเที่ยว ต้องมีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้กับประชาชนว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาเมาขับในพื้นที่เหล่านี้ได้จริง
 
นอกจากนี้เราได้เห็นการตื่นตัวสังคมที่ลุกขึ้นมาไม่เอา “คนเมาขับ ชนคนตาย” พร้อมเรียกร้องการยกระดับการลงโทษเมาขับชนคนตาย ของต้นสังกัดให้ทัดเทียบสากล ถือเป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคมแฟนฟุตบอล แต่ปัญหาเมาขับเกิดกับทุกวงการและรอการยกระดับของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ ที่ทัดเทียบสากลเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active