ไทย ตั้งเป้านำ อาเซียน สู่เวทีผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำของโลก

เตรียมรองรับภัยสุขภาพใหม่ ผ่านการสร้างเครือข่ายวัคซีนที่เข้มแข็ง ร่วมมือวิจัย-ผลิตวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของอาเซียนทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีการระบาด เล็งจับมือจีนขยายตลาดรองรับ 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยระหว่างการประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนแห่งอาเซียน ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ผลักดันแนวคิดการสร้างความมั่นคง ด้านวัคซีนให้เข้าสู่เวทีสากลมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากเห็นความสำคัญและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อชีวิตของประชาชนชาวไทยและอาเซียน จึงได้ระดมเครือข่ายด้านวัคซีน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 แนวคิดนี้ถูกยกระดับเป็นนโยบายระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางวัคซีนขึ้นเป็นครั้งแรก การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของผู้กำหนดนโยบายด้านวัคซีนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและวัคซีนจากองค์กรระหว่างประเทศประกอบด้วย องค์การอนามัยโลก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) เครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา ผู้แทนรัฐบาลจากกลุ่มอาเซียนบวกสาม อย่างจีน เกาหลี และญี่ปุ่น 

วัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุมเพื่อให้อาเซียนได้ขยายเครือข่ายงานด้านวัคซีน สร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน รวมถึงสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตวัคซีนอาเซียนให้เล็งเห็นถึงช่องทางในการก้าวขึ้นสู่เวทีผู้ผลิตชั้นนำของโลก โดยอาศัยความร่วมมือ จากเครือข่ายวัคซีนข้างต้นในการเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดวัคซีนที่มีความมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น 

ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า หากเราผลิตได้เอง มีการสำรองวัคซีนไว้ก็จะสามารถใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ การผลิตได้ในอาเซียน ก็ช่วยกันซื้อ ช่วยกันขาย การผลิตก็สามารถเดินหน้าไปได้ ประเด็นเหล่านี้ก็ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำด้านวัคซีนของอาเซียน

ขณะที่ นพ.นคร  เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  กล่าวว่า การที่จะมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน เราได้มีร่างการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือที่เรียกว่า ร่างแผนปฏิบัติการณ์ในระยะ 5 ปี โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกันทั้งในระดับอาเซียน และระดับโลก ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ 

ดังนั้น จึงต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียน เช่น เรื่องของการอัปเดตข้อมูลไวรัสระดับโลกที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร เรื่องการหากลไกการสร้างความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาวัคซีนร่วมกัน การเตรียมความพร้อมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนระยะยาวต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active