ไทยเตรียมชูแอปฯ “คนละครึ่ง-หมอพร้อม” กลางวงประชุม APEC Health Week

หารือระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขจากเขตเศรษฐกิจเอเปค สร้างสมดุลสาธารณสุข-เศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค.นี้ พร้อมเปิด สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนโรคอุบัติใหม่ฯ 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงวาระการจัดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค ครั้งที่ 2/2565 หรือ APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ว่าการจัดประชุมดังกล่าวมี 4 เป้าหมาย 

  1. เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน 
  2. เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 
  3. เพื่อแสดงศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย
  4. เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามของไทย

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทยสหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมแบบออนไซต์ และมี จีน จีนฮ่องกงเกาหลีใต้ และรัสเซีย เข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงมีผู้นำระดับสูงของหน่วยงานระหว่างประเทศ 3 ท่าน ได้แก่ 1. เลขาธิการอาเซียน 2. รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และ 3. ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปคและมีข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอีกกว่า 150 คน

นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี กองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี กองการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ The Active ถึงการเตรียมเนื้อหาของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยในวันที่ 25 ส.ค. จะเป็นวงเสวนาที่จัดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีกับภาคเอกชนในภูมิภาค มีคีย์แมนเป็นรัฐมนตรีจาก 3 ประเทศ สหรัฐอเมริกา,อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ถึงการสร้างสมดุลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเมืองเฟสแรกที่มีการทำในพื้นที่นำร่องคือ “ภูเก็ต sandbox” มาตรการทางสังคมที่ใช้ในการควบคุมโรค การแบ่งพื้นที่เป็นสีต่างๆ การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน “โครงการคนละครึ่ง” การบริหารจัดการวัคซีน การใช้ digital health โดยแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เชื่อมต่อไปแล้ว 75 ประเทศกลายเป็นแอปฯ ระดับต้น ๆ ของโลกรองจากประเทศเกาหลี

ส่วนเนื้อหาด้านที่ 2 คือการลงทุนด้านสุขภาพที่จะร่วมมีการหารือแนวทางในการลงทุนจากโควิด-19 ซึ่งเตรียมความเห็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมว่าทุกประเทศจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาและวัคซีนรวมไปถึงเครื่องมือทางการแพทย์ และการบริหารจัดการเตียงต่างๆ เพื่อรองรับกับโรคระบาดต่างๆในอนาคต

“บทเรียนที่สำคัญจากการระบาดของ โควิด-19 อีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงการระบาดแรกๆ ประเทศไทยขาดแคลนแทบทุกอย่าง เช่นเครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางชุด PPE ในที่สุดก็เป็นโอกาสให้คนไทยได้คิดค้นผลิตเครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วยตัวเองสำเร็จ และมองว่าเป็นความคุ้มค่าที่จะลงทุน” 

นายแพทย์พงศธร กล่าว

ส่วนวันที่ 26 ส.ค. จะเป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีที่จะมีหัวข้อสำคัญคือ“ความยืดหยุ่นด้านสาธารณสุข” อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด 19 โดยจะมีการก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ( ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) และเปิดสำนักงานที่ตึกบางรักเดือน ส.ค. นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโดยปกติศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอยู่ที่ประเทศไทยมานานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นที่เก็บเชื้อโรคเพื่อไว้สกัดทำยาและวัคซีน เป็นความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก แต่เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐ ย้ายศูนย์ไปที่เวียดนาม และอินโดนีเซียต่อรองขอให้ศูนย์ฯไปอยู่ที่อินโดนีเซีย ไทยจึงต้องเสนอตัว เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS