พบชายป่วย ”ฝีดาษลิง” คนที่ 2 ในกรุงเทพฯ สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน

เช็กด่วน “ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต” อาจเข้าข่ายติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” สธ.สั่งโรงพยาบาลรับแอดมิตเป็นผู้ป่วยใน ระหว่างรอผลจากแล็บยืนยัน 

วันนี้ (28 ก.ค. 65) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ มีอาการสงสัยป่วยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 65 มีอาการไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และสัปดาห์ต่อมา พบผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงมาตรวจที่โรงพยาบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยชายคนนี้ มีประวัติอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าสอบสวนโรคแล้ว พบว่า มีผู้สัมผัสร่วมบ้าน 10 คนขณะนี้อยู่ในระหว่างตรวจหาเชื้อและให้สังเกตอาการ 21 วัน อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนโรคกำลังเร่งหาผู้สัมผัสรายอื่น ๆ เพิ่มเติม 

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้สื่อสารทำความเข้าใจกับแพทย์ทั่วประเทศ หากพบผู้ที่มีประวัติสงสัย และอาการเข้าข่าย เป็นโรคฝีดาษลิง เมื่อมาตรวจรักษาที่สถานพยาบาล ขอให้รับตัวผู้เข้าข่ายทุกคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (แอดมิต) ก่อน ในระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อยืนยันผลแล้ว อาจให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาล หากมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน  หรือรักษาตัวในรูปแบบ Home isolation ได้เนื่องจากตามข้อมูล โรค ‘ฝีดาษลิง’ ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักหายได้เอง ภายใน2-4 สัปดาห์ 

ส่วนยาที่เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วย โรคฝีดาษลิงในตอนนี้เป็นยาที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นการเตรียมตัวกรณีพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมียาทั้งรูปแบบยารับประทาน และยาฉีด

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง  กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการนำวัคซีนมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงเหมือนโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป ที่บางกรณีอาจพบอาการรุนแรงได้ ซึ่งอาจมีภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด และผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากเป็นการติดเชื้อในผู้ที่แข็งแรง จะไม่ส่งผลให้ตัวเชื้อมีความรุนแรง เพียงแต่มีภาวะที่เห็นรอยตุ่มแผลตามร่างกาย 

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัส ที่ผู้ป่วยสามารถหายเองได้ โดยจากรายงานในต่างประเทศ ขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 10,000 คนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตเพียง 3 คนพบชายป่วย ”ฝีดาษลิง” คนที่ 2 ในกรุงเทพฯ สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน




เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS