โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ ผู้มีภาวะหมดไฟต่อเนื่องเสี่ยงซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์

ยกกรณี Urboy TJ คนรอบข้างต้องรับฟัง เสนอ องค์กรสำรวจความรู้สึก ให้ความสำคัญกับบุคคลากร ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น

จากกรณีนักร้องหนุ่มฮิปฮอปชื่อดัง “Urboy TJ” หรือ “จิรายุทธ ผโลประการ” เผชิญกับภาวะซึมเศร้า จนเกิดความรู้สึกหมดไฟในการทำงาน และหายตัวไปช่วง 01.35 น. ของวันนี้ (25 มิ.ย.65) โดยผู้จัดการส่วนตัวจะประกาศตามหาก่อนจะพบเขาเดินทางกลับบ้านในช่วงเช้ามืด

นักร้องหนุ่มยังได้โพสต์ในอินตราแกรมส่วนตัว ระบุว่า ภาวะซึมเศร้าของตัวเองถึงขั้นวิกฤต และขอหายไปสักพักเพื่อรักษาตัว

“ผมรู้สึกหมดไฟในการใช้ชีวิตมาหลายเดือนมากแล้ว แต่ไม่มีใครฟังผมเลย ในสิ่งที่ผมพูด ในสิ่งที่ผมแสดงออกไป เมื่อคืนผมตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่โชคดีที่ทำไม่สำเร็จ และ ผมคิดว่าผมคงไม่สามารถทำงาน entertain คนดูได้ ถ้าชีวิตผมยังมืดดำอยู่แบบนี้”

จิรายุทธ ผโลประการ
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต

The Active สอบถามเพิ่มเติมไปยัง นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต โดยระบุว่า การขอพักเพื่อไปปรับแผนคุณภาพชีวิต เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน“ภาวะหมดไฟ” (Burnout) สามารถจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้จะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม ซึ่งอาจจะมาจากการความรู้สึกของงานที่เริ่มไม่ท้าทาย รู้สึกห่างเหินไม่เป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร งานมีปริมาณมากกดดันจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่องาน ลาออก หรือมีปัญหาสุขภาพจิต 

“ต้องสำรวจตัวเองว่าภาวะหมดไฟในการทำงานของเราคืออะไร ถ้าตัวงานมากไป หรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอาจจะลองปรึกษาหัวหน้าเพื่อจัดระเบียบองค์กรใหม่ หรือรู้สึกว่างานที่ทำอยู่เริ่มไม่ท้าทายลองหาเวลาพักร้อนเดินทางหาแรงบันดาลใจ แต่ถ้าทำแล้วไม่ดีขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิต ต้องรีบไปพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินว่ามีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกินยาต่อเนื่องสามารถหายขาดได้”

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหมดไฟในการทำงาน อาจทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความเครียดควรพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และไม่ควรดื่มสุราเพื่อคลายเครียด เพราะพิษจากแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์ให้เกิดอาการแบบคล้ายกัน

นพ.อภิชาติ ยังแนะนำว่า หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ควรทำความเข้าใจกับภาวะหมดไฟในการทำงานว่าแตกต่างจากความขี้เกียจ สังเกตได้จากผู้ที่มีภาวะหมดไฟจะเป็นคนที่เคยมีความมุ่งมั่นกับการทำงาน แต่เปลี่ยนไปในภายหลัง จากปัจจัยในที่ทำงาน ดังนั้น การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น จะช่วยแก้ไขและยังทำให้ได้งานที่มีคุณภาพดีกว่า

ขณะที่ องค์กรหลาย ๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับภาวะหมดไฟ หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลากรเช่น ฝรั่งเศส ที่ปลุกกระแสการทำงานแบบ always-on ให้สิทธิจะตัดการเชื่อมต่อจากงานในวันหยุด หรือโปรตุเกส ให้พนักงานต้องมีโอกาสได้พบหัวหน้าอย่างน้อยทุกๆ สองเดือนเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานเกินไป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายระบุไว้ เพียงแต่ต้องดูเนื้อหาข้อความที่สั่งมา เช่น โทรมาสั่งงานและให้ทำให้เสร็จในวันนั้นเลย ถือเป็นการให้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถปฏิเสธได้

ทั้งนี้ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผลจากความเครียดเรื้อรัง ในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางก่อนจุรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ภาวะนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียด จนบางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่หยิบจับทำอะไร รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน จนทำให้มีความรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน