กรมควบคุมโรค ห่วง ‘ฝีดาษลิง’ เข้าไทยช่วงเปิดประเทศ

ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อและผู้สงสัยติดเชื้อร่วมร้อยคน องค์การอนามัยโลก ส่งสัญญาณเตือนทุกประเทศเฝ้าระวัง เร่งออกแนวทางรับมือ แพทย์วิเคราะห์ 5 ประเด็นเบาใจ 5 ประเด็นน่ากังวล

วันนี้ (23 พ.ค. 2565) การแถลงข่าวของ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ธรรมดา แม้โรคโควิด-19 จะอยู่ในช่วงขาลงแต่โลกของเรากำลังจะต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่ต่อเนื่องกันหรือไม่ 

ความน่ากังวลอยู่ที่การแพร่ระบาดจากคนสู่คน ที่เกิดขึ้นจากผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรค ซึ่งอาการของโรคโดยทั่วไปจะมีอาการไม่รุนแรงและหายป่วยในเวลาไม่กี่สัปดาห์  ขณะนี้ พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ทางตะวันตกและตอนกลางของทวีฟแอฟริกา แต่การพบผู้ติดเชื้อนอกพื้นที่นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และสร้างความกังวลให้นักระบาดวิทยา แต่ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างยังอยู่ในระดับต่ำ 

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของสหประชาชาติ รายงานว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกาแล้วอย่างน้อย 15 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป และผู้ต้องสงสัยติดเชื้อรวมกันมากกว่า 100 เคส และประเทศล่าสุดที่มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อ คือออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ และมีแนวโน้มจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นอีกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกกำลังเร่งออกแนวทางการรับมือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงให้กับประเทศต่างๆ เร็ว ๆ นี้ 

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาวิเคราะห์ว่า ฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากไวรัสคนละชนิดกับฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่เป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน (Orthopoxvirus) ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อในสัตว์เป็นหลัก มักติดระหว่างสัตว์สู่สัตว์ มีมาตั้งแต่ปี2501 พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา โดยเริ่มจากลิงแอฟริกา และต่อมาพบในหนูกระรอก กระต่าย ที่เป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ พบติดต่อมายังคนนอกทวีปแอฟริกาที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2546 และการระบาดหรือติดเชื้อในคนก็เริ่มมีประปราย ไม่ได้กว้างขวางทั่วโลก

องค์ความรู้เรื่องฝีดาษในคน ได้ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เพราะมนุษย์เราได้ช่วยกันระดมปลูกฝีป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และสามารถกำจัดไข้ทรพิษให้หมดไปจากโลกได้เมื่อ 50 ปีที่แล้วจึงไม่มีการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีนฝีดาษแล้ว และไม่มีการเรียนการสอน ตลอดจนไม่มีเคสผู้ป่วยให้รักษาในวงการแพทย์ทั่วโลก

ส่วนฝีดาษลิง ก็มีองค์ความรู้ที่จำกัด เพราะพบในคนน้อย ส่วนใหญ่จะพบในสัตว์ของแอฟริกาอย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลองค์ความรู้ทั้งหมดเท่าที่มีอย่างจำกัดพอสรุปได้ว่า

5 ประเด็นที่เบาใจ 

  1. ไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง จะกลายพันธุ์ได้น้อยและไม่บ่อย เพราะเป็นสารพันธุกรรมคู่หรือ DNA แตกต่างจากไวรัสก่อโรคโควิดซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรือ RNA จะเห็นได้ว่า โควิดผ่านมาสองปี มีการกลายพันธุ์ไปแล้วกว่า 1000 สายพันธุ์ ในขณะที่ฝีดาษลิง มีการติดเชื้อมาแล้ว 50 ปี วันนี้ตรวจพบก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม
  2. ความสามารถของไวรัสในการแพร่ระบาดไม่สูงมากนัก ผ่านมา 50 ปีแล้ว ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยไม่มากนัก ในขณะที่โควิดติดเชื้อหลายร้อยล้านราย
  3. การติดต่อนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น สัมผัสผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง หรือกรณีไปทานเนื้อสัตว์ดิบที่มีเชื้อ เป็นต้น
  4. วัคซีนและยาที่ใช้กับผู้ติดฝีดาษคน พอจะนำมาใช้กับฝีดาษลิงได้ คาดว่าน่าจะได้ผลในระดับ 85%
  5. ประเทศไทยยังไม่พบเคสฝีดาษลิง

5 ประเด็นที่น่ากังวล 

  1. ในช่วงนี้เกิดมีการระบาดนอกทวีปแอฟริกามากถึง 12 ประเทศ พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับมาจากแอฟริกา ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย
  2. เริ่มพบข้อเท็จจริงของการติดจากคนสู่คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรักร่วมเพศ
  3. มีแนวโน้มที่ชวนให้สงสัยว่า ไวรัสอาจติดต่อผ่านทางอากาศได้ (Airborne)
  4. วัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันฝีดาษลิงโดยตรง ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและผลิตเพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในกรณีถ้ามีการระบาดจริง
  5. อัตราการเสียชีวิตของฝีดาษลิง สูงกว่าโควิดประมาณ 10 เท่า คือ 1-10% (อย่างไรก็ตามก็รุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคนประมาณ 3-10 เท่า)

นพ.เฉลิมชัย มองต่อไปว่า ฝีดาษลิงติดต่อยาก มักเกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง ยังไม่มีข้อสรุปว่าติดต่อผ่านทางอากาศได้ แหล่งของไวรัส ได้แก่ ลิงแอฟริกา หนู กระรอก กระต่าย โดยวัคซีนฝีดาษคน น่าจะช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ประมาณ 85%  และยังไม่พบฝีดาษลิงในประเทศไทย แม้เราเลิกปลูกฝีมา 50 ปีแล้ว คนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี จึงไม่มีภูมิคุ้มกัน  ส่วนบางคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีแล้วมีแผลเป็นคล้ายปลูกฝี เป็นการปลูกฝีหรือให้วัคซีนวัณโรค ไม่ใช่ฝีดาษ 

ไทยตั้งศูนย์ฉุกเฉินฯ โรคฝีดาษลิง 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามในระยะนี้ เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียมฝรั่งเศส เยอรมันนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้ ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ  

จากข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อ ระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค ได้รายงานว่า จำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจากประเทศเสี่ยงสูงได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส โดยระหว่างวันที่ 1-22 พ.ค. 65 นี้ มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน 

กรมควบคุมโรคได้มีการยกระดับเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงเหล่านี้ ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง  
  • ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส สารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง  

ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่มซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 5903839 หรือ 1422

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS