เสนอสร้างโรงพยาบาลประจำเขต ปิดช่องว่างระบบส่งต่อผู้ป่วย ดึง รพ.เอกชน ร่วมสร้างทีมแพทย์ปฐมภูมิ พร้อมผุด “สมุดปกขาว” ส่งถึงมือว่าที่ผู้ว่าฯ ในตลาดนัดนโยบาย 16 พ.ค.นี้
วันที่ 29 เม.ย. 2565 ที่ไทยพีบีเอส เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “เมืองระบบสุขภาพดี” ระดมเสียงของภาคประชาชน และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอด้านระบบสุขภาพไปสู่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า จากความทุกข์ยากของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร กับการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้พบจุดอ่อนในระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครหลายด้าน ซึ่งเคยเสนอให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เมื่อครั้งที่ ThaiPBS จัดดีเบตผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อ 9 ปีที่แล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับ
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีขึ้น ภาคประชาชนมองเห็นเป็นโอกาสที่จะเสนอให้มีโรงพยาบาลประจำเขต ซึ่งเป็นช่องว่างของระบบส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะมีโรงพยาบาลมากที่สุดในประเทศแต่ไม่เชื่อมต่อกัน
ด้าน พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร อดีตเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กล่าวว่า มองว่าการแพทย์ปฐมภูมิ ไม่ได้ทำแค่การส่งเสริม ป้องกัน แต่เป็นการดูแลสุขภาพที่เป็นปัญหาพบบ่อยของประชาชน อย่างต่อเนื่อง จึงเสนอจัดทำให้หน่วยบริหารเครือข่ายสุขภาพระดับเขต ทุกเขต แทนโรงพยาบาล และสร้างหน่วยบริการ call center ที่ให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพ ให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม วิธีคิดที่สำคัญท่ามกลางความซับของระบบ คือต้องทำงานร่วมกับคนอื่นให้ได้โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือและเสริมพลังภาคประชาชน เช่น กรณีโควิด มีปัญหาการสื่อสาร จำเป็นต้องมีหน่วยจัดการและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพซึ่งเป็นงานสาธารณสุขปฐมภูมิ หน่วยนี้ไม่ได้ใช่เงินเยอะ ไม่ได้ใช้การก่อสร้างอาคาร แต่ต้องการระดมคน
ขณะที่ วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครหรือ อสส. ซึ่งเป็นด่านหน้าของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ระบุว่า ต้องการการสนับสนุนงบประมาณ และสร้างศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อส่งเสริมการทำงานของ อสส. ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน ที่พร้อมทำงานด้านสาธารณสุข ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับต่างจังหวัด แต่ทำงานยากและซับซ้อนกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ใน ต่างจังหวัด
ด้าน นพ.อานนท์ กุลธรรมมานุสรณ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่าต้องการเห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศเจตจำนงว่าจะเป็นคนช่วยประสาน ให้ภาคส่วนต่างๆเข้ามาร่วมในการดูแล เพราะอำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลได้แค่ 11 โรงพยาบาลในสังกัด และ 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องประสานหน่วยงานทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน หรือเอกคลินิกเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดให้เข้ามาร่วม
ระดมเสียงสะท้อนปัญหาระบบสาธารณสุข กทม. 4 กลุ่ม
ก่อนเริ่มเวทีสาธารณะ มีกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม กลุ่มแรก พูดคุยกันในหัวข้อ “กฎหมาย ระเบียบ นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ“ สะท้อนปัญหารัฐไม่ยืดหยุ่นในข้อกฎหมาย มีอัตรากำลังต่ำ และไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาขนมาร่วมมากนัก บางเรื่องมีกฎหมายแต่ถูกบังคับใช้
กลุ่มที่ 2 หัวข้อ “ระบบบริการด้านสุขภาพปฐมภูมิ การจัดการทรัพยากร” เสนอเพิ่มทีมหมอครอบครัว 570 ทีม โดยกทม.เป็นเจ้าภาพ ดึงเอกชน มาร่วมทีม จะช่วยประหยัดงบประมาณ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีรพ.เอกชนในสัดส่วนเกินครึ่งซึ่งครอบคลุมกว่า
กลุ่มที่ 3 หัวข้อ “เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน“ เสนอเรื่องการสร้างศูนย์สุขภาพชุมชน เพิ่มเติม เชื่อมโยงกับเครือข่ายประชาชนที่พร้อมให้การดูแลอยู่แล้ว พร้อมสะท้อนบริบทชุมชนเมืองชุมชน บางแห่งถูกละเลย ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักเขต ตกหล่นเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข ส่วนนิติบุคคลคอนโดฯ หมู่บ้านจัดสรร ต้องมีการจัดการร่วมกันในอีกรูปแบบ
และกลุ่มที่ 4 คุยเรื่อง “สภาพแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” เสนอให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย และอาหารปลอดภัย รื้อผังเมืองที่เอื้อต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วม
เครื่อข่ายปลุกกรุงเทพฯ ผุด “สมุดปกขาว” ส่งถึงมือว่าที่ผู้ว่าฯ
ด้าน รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบสุขภาพเป็นระบบที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนตั้งแต่ครรภ์มารดา ไปจนถึงเชิงตะกอน จึงมองว่าสุขภาพคือนโยบายแกนหลักของกรุงเทพมหานครที่ต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วน โดย Thai PBS ในฐานะสื่อสาธารณะ เป็นพื้นที่ในการระดมเสียงของภาคประชาชนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อช่วยกันยกระดับบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครเป็นข้อเสนอไปสู่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำไปใช้
โดยเครือข่ายปลูกกรุงเทพฯ ที่นำเสนอในหลากหลายประเด็นจะรวบรวมข้อเสนอเป็น “สมุดปกขาว” และจัดตลาดนัดนโยบายในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีการเชิญผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาร่วมซื้อนโยบายจากภาคประชาชน
ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ สช. ยอมรับว่า การยกระดับระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร ค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะการหาจุดเชื่อมต่อกันของหน่วยบริการที่หลากหลายสังกัด อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก โดยคาดหวังว่า ข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็นของภาคประชาชนและเครือข่ายนักวิชาการในวันนี้ จะแหลมคมมากพอ ที่จะเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำไปใช้ผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น