มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ เร่งสื่อสารความสำคัญต่อการสนับสนุนให้แม่มีเวลาให้นมลูก สอดคล้องยูนิเซฟ เสนอรัฐ ลงทุนให้เกิดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า
วันนี้ (12 ส.ค.67) มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์สร้างการมีวิถีชีวิตสุขภาวะที่ดีตั้งแต่วัยแรกเกิดไปถึงวัยสูงอายุ โดยเฉพาะการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้เด็กได้รับอาหารมื้อแรกของชีวิตที่มีคุณค่าทั้งสารอาหารและภูมิคุ้มกัน โดยแนะนำให้นมแม่ล้วนกับเด็กทารกแรกเกิดต่อเนื่องไปจนถึง 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยไปจนถึงอายุ 2 ปี พร้อมทั้งการเลี้ยงดูให้มีพัฒนาการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง เจริญเติบโตสมวัยได้เต็มตามศักยภาพ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพคุณแม่ รวมทั้งช่วยสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่และลูก
จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนแรกยังคงได้เพียง 28.6% ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 50% ขึ้นไป มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ สานพลัง สสส. เดินหน้ารณรงค์ หนุนให้ “นมแม่ล้วน 6 เดือนแรก ไม่ต้องเสริมน้ำ” เพื่อสร้างคุณภาพเด็กไทยด้วยวัคซีนหยดแรกจากนมแม่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้คุณแม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์เพื่อให้มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน ไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ตามเกณฑ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเคลื่อนไหวร่างกายให้เหมาะสมเพื่อการมีสุขภาพดีในวิถีชีวิตพร้อมลูกในครรภ์ไปด้วยกัน โดยการเปิดช่องทางให้ความรู้ที่ถูกต้อง ผ่าน Tiktok การแพทย์แปดนาที ทุกวันอังคาร-พุธ ตลอดเดือน ส.ค.นี้ และสามารถรับชมสื่อความรู้ย้อนหลังและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และเฟซบุ๊กแฟนเพจ นมแม่
“นมแม่ มีสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสมองและร่างกาย เด็กที่ได้กินนมแม่ยังได้รับภูมิคุ้มกัน ลดการเจ็บป่วย ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง จึงขอเชิญชวนให้คุณแม่มาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เพิ่มมากขึ้น”
นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิร่วมรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สนับสนุนการกินนมแม่ล้วน 6 เดือนแรก ไม่ต้องเสริมน้ำ ช่วยสร้างคุณภาพเด็กไทย สอดคล้องคำขวัญสัปดาห์นมแม่โลกในปี 2567 โดยองค์กรพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (World Alliance for Breastfeeding Actions : WABA) ว่า “Closing the Gap : Breastfeeding Support for All” หรือ “ปิดช่องว่าง สร้างสังคมนมแม่ถ้วนหน้า” ที่มุ่งให้ประชาคมโลกช่วยกันปิดช่องว่าง สนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยที่พ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้านหรือไกลบ้าน วันลาคลอดที่ไม่เพียงพอ ระบบการช่วยเหลือแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ทั้งขณะอยู่โรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน ถือเป็นช่องว่างที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ
“อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นตัวชี้วัดด้านโภชนาการระดับโลกที่สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งทารกจะได้รับอาหารและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมที่สุดในระยะวัยบอบบางที่สมองเติบโตรวดเร็ว เป็นการสร้างรากฐานสุขภาวะและคุณภาพชีวิต“
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
งานวิจัย ช่องว่างและความเหลื่อมลํา: เพื่อเด็กทุกคนในประเทศไทยได้ เติบโตอย่างเท่าเทียม โดยยูนิเซฟ ระบุว่า การเลี้ยงถูกด้วยนมแม่ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางกายและอารมณ์ ระหว่างแม่และทารกที่จําเป็นและยืนยาวตลอดชีวิต การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการดําเนินการทางสุขภาพที่คุ้มค่าในการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยจะให้การป้องกันทางสุขภาพไปตลอดชีวิต และให้โอกาสเด็กทุกคน ในการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าเด็กจะมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจก็ตาม
อย่างไรก็ดี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ไม่ใช่แค่งานของแม่แต่เพียงผู้เดียว แม่ที่เลือกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรได้ รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐบาล ระบบสาธารณสุข ที่ทํางาน และครอบครัว เพื่อที่จะบรรลุผลสําเร็จ โดยตัวชี้วัดหลัก คือร้อยละของเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ร้อยละของเด็กที่กินนมแม่กายในช่วโมงแรกหลังคลอดภายในวันแรกหลังคลอด ร้อยละของเด็กที่กินนมแม่ต่อเนื่องเมื่อมีอายุ 1 หรือ 2 ปี
พร้อมเสนอว่า ควรส่งเสริมการดําเนินการตามหลักบันได 10 ขั้น ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั่วทั้งประเทศ
สนับสนุนให้แม่สามารถเริ่มให้นมได้ตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ย้ำแนวปฏิบัติระดับชาติและเฝ้าติดตาม การดําเนินการ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีนโยบายอยู่แล้ว ด้วยการสนับสนุนที่เหมาะสม ทารกที่เกิดด้วยการผ่าคลอดสามารถรับนมแม่ได้ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ผลักดันให้โรงพยาบาลมีนโยบายที่ส่งเสริม และเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการสนับสนุน นมแม่หลังผ่าคลอด ในขณะเดียวกันก็สื่อสารกับแม่ตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการผ่าคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า ลงทุนในการสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อจัดให้แม่ทุกคนได้รับ คําปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พัฒนาช่องทางใหม่ให้แม่สามารถเข้าถึงบริการให้คําปรึกษา อย่างทันท่วงทีและสะดวกตลอดเส้นทางการให้นมแม่
รับประกันว่ามีการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ในพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับในสถานบริการด้านสุขภาพของรัฐและเอกชน ทบทวนระเบียบ ข้อบังคับเพื่อให้ขอบเขตของกฎหมายสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และ สามารถจัดการกับการละเมิดผ่านวิธีส่งเสริมการตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์
ลงทุนในการศึกษาวิจัยเพื่อระบุและทําความเข้าใจอุปสรรคทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อ การให้อาหารเด็กอายุตํ่ากว่า 2 ปี เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการจัดทํานโยบาย กลยุทธ์และโครงการระดับชาติ ที่จำเป็นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและค้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ลงทุนในการรณรงค์สื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว (ไม่ป้อนน้ำหรือ ของเหลวอื่น ๆ) และการเริ่มให้อาหารเสริมเมื่ออายุครบ 6 เดือน การรณรงค์สื่อสารที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และมุ่งเป้าไปยังครอบครัว และชุมชนสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทําให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งปกติ และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อหลังจากหกเดือน
ริเริ่มนโยบายที่ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อครอบครัวในการสนับสนุนแม่ที่ต้องทํางาน รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ในสถานที่ทํางาน ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีนโยบายการลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง ช่องทางเข้าถึง สถานรับเลี้ยงเด็กที่ราคาย่อมเยาและมีคุณภาพ (ทั้งในและนอกสถานที่ทํางาน) เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และ ค่าจ้างที่เพียงพอ สถานที่ทํางานควรจัดให้มีช่องทางเข้าถึงห้องนมแม่ที่ปลอดภัย สะอาดและเหมาะสมกับวัฒนธรรม และรับประกันว่าแม่จะได้รับค่าจ้างระหว่างการพัก บีบเก็บนํ้านมโดยมีชั่วโมงการทํางานที่ยึดหยุ่น