‘ชัชชาติ’ ขานรับปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม.

เดินหน้าหารือคณะผู้บริหารด้านสาธารณสุข เล็งดึง ภาคประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ  เข้าร่วมทำงาน ไม่เน้นใช้งบฯ ลงทุนสร้างรพ.ขนาดใหญ่ เตรียมนำร่อง Sandbox ด้านสุขภาพระดับเขตหรือโซน  พร้อมรับ ‘สมุดปกขาว’ ไปขับเคลื่อนต่อ

วันที่ 31 พ.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบเครือข่ายสุขภาพ เพื่อหารือประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปสุขภาพของ กทม.​โดยมีองค์กรสุขภาพซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ความชัดเจนที่เกิดขึ้นในการหารือครั้งนี้ คือการสังเคราะห์นโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปรียบเทียบกับโครงสร้างงบประมาณ ของ  สปสช. และ งบประมาณของกองทุนท้องถิ่น โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณจาก สปสช. ปีละหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร กว่า 1,140 ล้านบาท นั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า กทม.ใช้เงินไปไม่ถึงครึ่งเนื่องจากโครงการที่เขียนมาของบฯ นั้นต้องผ่านการตรวจสอบของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้การเบิกจ่ายติดขัด ล่าช้า ​โดยเป็นที่น่าเสียดายในกรณีที่ใช้งบประมาณไม่ถึงครึ่ง ปีต่อมาจึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มกลับเข้าไปใหม่ เพราะถือเป็นการใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ  

ด้าน ชัชชาติ ระบุว่า จะแก้ปัญหาด้วยการปลดล็อก​ทำให้การของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครมีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อนำใช้พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับภาคประชาชนซึ่งมีข้อเสนอที่ดี เพราะข้าราชการส่วนใหญ่มีข้อมูลจำกัดระดับหนึ่ง การได้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานด้วยจึงถือเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา 4 เรื่องคือ 1. เศรษฐกิจ 2. สาธารณสุข 3.การศึกษา และ 4. สิ่งแวดล้อม โดยด้านสาธารณสุขจะเน้นไปที่ระบบปฐมภูมิ ​ ขณะที่การศึกษาจะเน้นไปที่เด็กก่อนวัยเรียน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจจะมุ่งแก้ปัญหาปากท้องรากหญ้า และที่อยู่อาศัยของคนทำงานในเมือง ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น 

“เรื่องระบบสาธารสุข (กทม.) ต้องเอา สปสช. มาร่วมด้วยเพราะเป็นคนให้เงิน เราต้องตั้งกลุ่มทำงานเฉพาะ เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิค ต้องมีประชาคมมาช่วยให้ความเห็น ซึ่งจะต่างจากวาระอื่น ๆ”

ชัชชาติ  กล่าวด้วยว่า ในส่วนของระบบสุขภาพปฐมภูมิ อาจไม่ต้องทำอะไรใหม่ เพียงต้องปรับวิธีการคิด เน้นการกระจายสู่พื้นที่  ​ดึงเครือข่ายเอกชนมาเป็นแนวร่วม โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงพยาบาลอะไรใหญ่โต แต่หาแนวร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งนโยบายที่คิดไว้ก็เป็นนโยบายที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะ แต่ใช้การเปลี่ยนวีธีคิด 

ขณะที่ นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ​การสร้างการมีส่วนร่วมจะต้องเริ่มต้นจากมิติด้านสุขภาพ ซึ่งมีกลไกและเครือข่ายทำงานในระดับพื้นที่อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มข้นและขยายคำว่าสุขภาพดี ออกไปให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ กระบวนการ เครื่องมือ และทุนที่พวกเรามีอยู่ 

โดยมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ผ่านเครื่องมือ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเวทีกลางพัฒนาประเด็นสาธารณะสู่การปฏิบัติเป็นกระบวนการวิเคราะห์ช่องว่างหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต หรือกติกาชุมชน หรือบางพื้นที่อาจกำหนดเป็นทิศทาง เพื่อเป็นกรอบในการอยู่ร่วมกัน โดยมุ่งโจทย์ร่วมจะทำอย่างไร  ให้กองทุนสุขภาพเขต กว่าพันล้าน สนับสนุนกลไกระดับชุมชนให้ขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นของชุมชนเอง 

สมุดปกขาว ถึงมือ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ 

ด้าน ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ในนามผู้ประสานงาน เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ กล่าวว่า ในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้จัดเวทีระดมข้อเสนอเชิงนโยบาย 30 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือเมืองระบบสุขภาพดี ซึ่งมีข้อเสนอของภาคประชาชน ที่สนับสนุนนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่ โดยอาจนำร่องให้เป็นรูปธรรม ในลักษณะ Sandbox โดยเลือกจากเขตพื้นที่ที่มีความพร้อม

ภายหลังการหารือในเรื่องดังกล่าว ตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้มอบ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน”  แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย ชัชชาติ ​กล่าวว่า ปัญหากรุงเทพฯ มันเยอะ แต่ซ้ำและคล้าย ๆ กันในแต่ละชุมชนแต่ละเขต เช่น เรื่องศูนย์บริการสาธารณสุข มีปัญหาในศูนย์หนึ่งก็อาจจะคล้ายกันใน 69 แห่งถ้าสามารถแก้ปัญหาในศูนย์หนึ่งก็จะขยายผลไปศูนย์อื่น ๆ ได้

 

“ผมว่ากรุงเทพฯ มันต้องไปด้วยกัน นี่เป็นจังหวะที่ดี ที่ผ่านมาเราคาดหวังว่ากทม.จะทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น แต่ท้ายที่สุดทุกคนต้องร่วมกันและคงไม่ได้หยุดแค่นี้ สมุดปกขาวคงเป็นสิ่งมีชีวิตเพราะปัญหากรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่กับที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นี่คือสิ่งที่รับไว้และจะพัฒนาต่อเนื่องไป” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS