ภาคประชาชนเผยพรรคการเมืองสนใจนโยบายจากงาน Hack Thailand ประเด็นผู้สูงอายุ มาคุยนอกรอบ ขอข้อมูลเพิ่มเติม เตรียมขับเคลื่อนการจัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยผู้สูงอายุ เชื่อหากทำจริงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ 13 ล้านคน
วันนี้ (9 พ.ค.) วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ม.รังสิต หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าร่วม Hack Thailand 2575 ในมิติสาธารณสุข : Active Aging : Oldy Health Society โดยในเวทีได้นำเสนอนโยบาย “สูงวัยใจสะออน Active Aging : Oldy Health Society” กล่าวว่า ช่วงหลังจากกิจกรรมมีตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้ามาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายนี้ โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยผู้สูงอายุ หรือ PA (Personal Assistance) ในฐานะตัวแทนกลุ่มรู้สึกภาคภูมิใจที่มีเวทีทำให้เสียงของภาคประชาชนถูกส่งตรงไปถึงพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง และจะเป็นเรื่องที่ดีหากจะถูกนำไปใช้เป็นนโยบายในการบริหารประเทศจริง ๆ ซึ่งเชื่อว่าผู้สูงอายุไทยกว่า 13 ล้านคน ก็คงดีใจเหมือนกัน
- อ่าน ประชาชนขาย พรรคการเมืองซื้อ: 12 นโยบาย Hack Thailand 2575 พลิกโฉมประเทศไทย
- อ่าน Hack Thailand 2575 จุดเริ่มต้นการออกแบบนโยบายร่วมกันของ ประชาชนและพรรคการเมือง
“ต้องขอบคุณทาง The Active ที่ชวนผมเข้าไปร่วมกิจกรรม เพราะนอกจาก 2 พรรคการเมืองที่ร่วมซื้อนโยบายในวันนั้นแล้ว ยังมีอีกหลายพรรคเข้ามาหาเราขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงที่มหาวิทยาลัย ซึ่งน่าดีใจที่หลายพรรคมองว่าเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ จริง ๆ ควรกำหนดเป็นวาระตั้งแต่วันแรกของการจัดตั้งรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ”
สำหรับนโยบาย “สูงวัยใจสะออน Active Aging : Oldy Health Society” เป็นนโยบายที่ภาคประชาชนและพรรคการเมืองร่วมกันเสนอนโยบายโดยร่วมกันคิดวิเคราะห์จากข้อมูลและสถานการณ์ปัญหาภายใต้ 48 ชั่วโมง มีข้อมูลระบุว่าการก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุไทยอย่างมีคุณภาพในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งเงินจากเบี้ยยังคนชรา การอาศัยอย่างโดดเดี่ยวในที่อาศัย ความปลอดภัย การเดินทาง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ไทยเข้าสูงสังคมสูงวัยสมบูรณ์ เท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรไทยกำลังจะอยู่ในความเสี่ยงแก่ จน เจ็บ ใน 4 ด้าน
จึงเสนอกองทุนการออมส่วนบุคคลสำหรับสูงวัย (Elderly Future Fund : EFF) มีรูปแบบการออมมาจากประชาชนใช้จ่าย 3% รัฐบาลสมทบ 3% เริ่มจ่าย 20 ใช้ 60 ปี เป็นทุนส่วนตัวไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและบริการทางสังคม สุขภาพ OTODS (One Tambon One Day Service) หนึ่งตำบล หนึ่งหน่วยบริการ โดยอาศัยระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพเป็นผู้ดูแลก่อนป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุโดดเดี่ยวสังคม PA (Personal Assistance) ผู้ช่วยผู้สูงอายุ จัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยผู้สูงอายุ เพื่อฝึกงาน หารายได้ให้กับผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อม Aging in Place ส่งเสริมสุขภาพดี ปลอดภัย อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่
สำหรับพรรคการเมืองที่มาร่วมรับฟังนโยบายครั้งนี้ มี 2 พรรคที่สนใจพร้อมจะสานต่อ แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม ชาติพัฒนากล้า เห็นว่าข้อมูลสอดคล้องกับที่ลงพื้นที่ และได้เห็นปัญหาของคนชราที่อยู่บ้านและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก ทางพรรคจึงเสนอแนวคิดอารยสถาปัตย์ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ผู้สูงอายุจำเป็น เช่น การจ้างงานโดยมีรัฐสนับสนุนครึ่งๆ ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
ด้าน นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย เป็นอีกพรรคที่ซื้อนโยบายนี้ และเห็นด้วยกับกองทุนที่ทางทีมเสนอ ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองเสนอจะทบำนาญผู้สูงอายุ แต่ว่าทางพรรคเห็นว่าควรเป็นบำนาญประชาชนเพราะว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระผูกพันที่เกี่ยวข้องกับวัยอื่น ๆ ทุกวันนี้คนไม่ยอมมีลูกเพราะกลัวภาระ หากเราช่วยผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้เขามีสุขภาพชีวิตที่ดีได้ ลูกหลานก็จะไม่มีภาระ และโจทย์ใหญ่ที่เราจะนำมาทำเรื่องนี้สิ่งที่ต้องแก้คือ ปัญหาคอร์รัปชันหากแก้ได้ จะมีเงินมาทำเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า การทำฐานข้อมูลเป็นเรื่องที่ดีโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หากมีข้อมูลเชื่อมโยงกันได้จริงจะเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การตั้งรับแต่ต้องมีการส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพและรัฐใช้มาตรการจูงใจคนที่สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี ในรูปแบบของภาษี เป็นต้น