‘เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม’ วันสุดท้าย! ชวน ‘คนรุ่นใหม่’ เข้าใจความหลากหลาย วิถีวัฒนธรรม

สิ้นสุดลงไปแล้ว กับงานดนตรีชาติพันธุ์ กลางสยามสแควร์ ท่ามกลางความประทับใจของคนเมือง ตอกย้ำคุณค่า ศักยภาพ การมีตัวตนกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนผ่านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่

‘อ.ชิ – ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์’ ศิลปินปกาเกอะญอ ร่วมร้องเพลงกับ ‘Boy Your mood’

วันนี้ (17 มี.ค. 67) วันสุดท้ายของกิจกรรม “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม” งานดนตรีชาติพันธุ์ ซึ่งวันนี้เป็นการแสดงดนตรีของศิลปินชาติพันธุ์ อย่าง อ.ชิ – ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้พา ‘เตหน่ากู’ เครื่องดนตรีชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอดังไกลทั่วโลก โดยผสมผสานกับ ศิลปินป๊อบที่กำลังมาแรง อย่าง Boy Yourmood เจ้าของเพลงดัง ‘ลาก่อน’ ซึ่งทั้ง 2 วงไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน แต่ก็ร่วมแสดงกันได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ยังมีการแสดงร่วมกันของศิลปินชาติพันธุ์ และศิลปินคนรุ่นใหม่อีกหลายวง อย่าง ดนตรีพื้นบ้านลีซู, คณะพรสวรรค์ ภูเก็ต รำร๊องเง็ง กับวง Nimman Street Orchestra และ TU Symphony Orchestra รวมทั้งวง โหย่งหมั่ว ศิลปินชื่อดังชาวม้ง กับวง Good mood

นี่ถือเป็นการแสดงดนตรีรูปแบบใหม่ครั้งแรก ที่ทำให้เห็นความหลากหลายแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สะท้อนถึงสังคมไทยที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย สร้างความสนใจความประทับใจให้กับผู้ที่สนใจ รวมถึงวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ที่สยาม ได้มาเรียนรู้ เข้าใจความหลากหลายชาติพันธุ์ในวันนี้

แฟนเพลงของ Your mood

แฟนเพลงของ Your mood ที่มาติดตามกิจกรรมดนตรีชาติพันธุ์วันนี้ บอกว่า เป็น FC ของ Boy Yourmood โดยไม่เคยรู้จักดนตรีชาติพันธุ์เลย แต่มาวันนี้เห็นเขาร้องเพลงด้วยกัน แล้วทำให้เห็นว่าดนตรีชาติพันธุ์เพราะมาก อย่างตอนที่ศิลปินปกาเกอะญอร้องเพลงลาก่อน เพราะมาก คิดว่าอยากรู้จักมากขึ้น คงต้องไปตามฟัง ตามดูเรื่องต่าง ๆ ของชาติพันธุ์

นอกจากงานดนตรีชาติพันธุ์ ด้านหลังเวที ยังมีผลิตภัณฑ์ สินค้า จากหลากหลายชุมชนชาติพันธุ์ ที่นำทั้ง อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และสินค้าต่าง ๆ มาจำหน่ายให้กับคนเมือง รวมทั้งการจัด workshop สอนดนตรี, การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ เพื่อให้ได้รู้จัก เรียนรู้ เข้าใจ ถึงที่มาที่ไป ตัวตนของพวกเขาผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรที่ทำให้มีผลผลิตที่ดีที่เป็นความมั่นคงในชีวิต และยังทำให้ได้เรียนรู้เข้าใจถึงรากเหง้าปัญหาที่มากระทบพวกเขาในปัจจุบัน และอนาคต เช่น ข้อจำกัดทางนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลปัญหาไม่มีที่ทำกินที่อยู่อาศัย

สำหรับรูปธรรม พร้อมด้วยศักยภาพภายในกิจกรรม “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม” วันนี้แม้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย มีมากกว่า 60 กลุ่ม กว่า 7 ล้านคน พวกเขาพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญนำศักยภาพร่วมพัฒนาประเทศ จนได้เป็นที่มาของการขับเคลื่อนร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ซึ่งกำลังพิจารณากันอย่างเข้มข้นในสภาฯ โดยคาดหวังให้กฎหมายเข้ามาคุ้มครอง สนับสนุนทุนวัฒนธรรมเหล่านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active