สถานทูตเนเธอร์แลนด์ เตรียมเปิดพื้นที่หมู่บ้านฮอลันดาในรูปแบบดิจิทัล คืนชีวิตให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา สานสัมพันธ์ที่ดีคนไทย-ชาวดัตช์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วันนี้ (20 ส.ค. 2566) สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ จัดวงพูดคุยถึงเรื่องราวของการออกแบบเนื้อหาในโลกดิจิทัล การสร้างสุนทรียภาพทางสายตา และการเปิดตัวเว็บไซต์บ้านฮอลันดาบอกเล่าความสัมพันธ์ไทย-ดัตช์ โดยการนำเสนอเนื้อของของ Fabrigue บริษัท agency ออกแบบดิจิทัลของเนเธอร์แลนด์ ณ TCDC เขตบางรัก กทม.
Helen Goossens หัวหน้าโครงการ and Joost de Nooy ของ Fabrigue บอกว่า สถานที่ที่เรียกกันว่าหมู่บ้านฮอลันดา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีตเคยเป็นชุมชนของชาวดัตช์ที่มาทำการค้าอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีประวัติศาสตร์ยาวนานบนแผ่นดินไทย ซึ่งเธอได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นเวลานับปี ทั้งรายละเอียดเรื่องของเส้นทางการค้าขายกับตะวันตก วิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้ ลักษณะทางกายภาพของเมือง ผ่านรากฐานวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ทุกอย่างถูกร้อยเรียงและกำลังจะเล่าผ่านเว็บไซต์บ้านฮอลันดา
“โดยข้อเท็จจริงเราพบว่าอยุธยามีการค้ากับชาวดัตช์ ประเทศฝั่งตะวันตก รวมไปถึงแถบเอเชียด้วย ทำให้อยุธยาเฟื่องฟูอย่างมาก ซึ่งเราพยายามออกแบบเนื้อหาเพื่อสื่อสารให้น่าสนใจผ่านเว็บไซต์ จะพบกับแกลเลอรี่ มีการจัดทำแผนที่จำลองเส้นทางเดินเรือ และหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางการพัฒนาตรงนี้ โดยหวังว่าเมื่อผู้คนได้ชมเนื้อหาในออนไลน์แล้วจะเดินทางมายังสถานที่จริง และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ เชื่อมผู้คนถึงกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ เพื่อส่งผลที่ดีความสัมพันธ์ในปัจจุบัน โดยเว็บไซต์จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 สิงหาคมนี้”
Helen Goossens แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการองค์กรสื่อสารวัฒนธรรมในโลกดิจิทัลว่า Fabrigue คือดิจิทัลเอเจนซี่สื่อสารด้านวัฒนธรรม จากประเทศเนเธอแลนด์ มีจุดเด่นในเรื่องของการทำงานแบบศูนย์รวม หรือ one stop service ระบุว่า ในองค์กรมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยนักเล่าเรื่อง วิศวกร ศิลปินนักออกแบบที่ทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะออกแบบผลงานการสื่อสารในโลกดิจิทัล การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดให้ลูกค้าแบบบูรณาการ โดยลูกค้าในความหมายไม่ใช่แค่ผู้จ้างงาน แต่คือคนที่ต้องการให้เราช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเขาด้วย สิ่งที่เราทำคือการออกแบบการสื่อสารและสร้างประสบการณ์ในโลกดิจิทัล เราอาจจะนำเสนอเรื่องราวเชิงวัฒนธรรม และความหมายของสิ่งต่างๆ ให้ผู้คนได้ชม เราสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เจ้าหน้าที่เห็นความสำคัญของเรื่องอะไรที่อยากจะเล่า และเรื่องราวนั้นอาจจะไม่ได้มีแค่คำตอบเดียวแต่มีบริบทรอบด้านที่น่าสนใจ
ตัวอย่างผลงานหนึ่งของ Fabrigue คือการจัดทำเว็บไซต์ให้กับพิพิธภัณฑ์ ruks museum เดิมผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ต้องการจะนำทุกอย่างเข้าไปอยู่ในออนไลน์ แต่ก็มีการคิดและตกผลึกเพื่อดึงจุดขายบางอย่างออกมาจัดทำก่อน โดยพบว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีจุดเด่นคือการเก็บแผ่นภาพที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ เว็บไซต์จึงถูกออกแบบให้นำเสนอภาพจิตรกรรมไล่ตามช่วงเวลา และให้ดีเทลของผลงานชิ้นต่างๆ ชัดเจนมีคุณภาพสูง ประกอบกับการนำเสนอเรื่องราวของแต่ละภาพให้ดูและอ่านได้ในเว็บไซต์
พร้อมๆ กับการให้ข้อมูลเรื่องการซื้อตั๋วหรือเตือนงานกิจกรรมต่างๆ มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ เช่น เทคนิคการรักษาสิ่งของเก่าแก่ และมีคอลัมน์ที่ให้ภัณฑารักษ์สามารถสร้างคอนเท้นท์ได้ด้วยตัวเอง หรือการจัดกลุ่มข้อมูลเก๋ๆ หากเสิร์จคำว่า สีแดง ก็จะมีภาพวัตถุต่างๆ ที่เป็นสีแดง หรือพิมพ์ว่าหนวดก็จะรวบรวมภาพที่มีหนวดมาให้ชม ทำให้การชมผลงานพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ว่าไม่ใช่การยกทุกอย่างเข้ามาในดิจิทัล เป้าหมายคือเป็นการใช้เครื่องมือดิจิทัลเชื่อมโยงกิจกรรมและเรื่องราวกับโลกความเป็นจริง
“การที่เราจะสร้างตัวตนในโลกดิจิทัลให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านวัฒนธรรม ต้องทราบว่าเนื้อหาวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างไร ต่อองค์กรของเขาและองค์กรของเรา องค์กรทุกที่อาจจะมีความเหมือน แต่เราต้องหาความแตกต่างกันให้เจอ เพื่อที่จะนำเสนอหรือออกแบบเนื้อหาใหม่ๆ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะขององค์กรนั้นๆ ในมุมของนักออกแบบ ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ชมงานเป็นลำดับแรก และจะไม่มีคำตอบเดียวสำหรับทุกโจทย์ต้องตีความนำเสนอแบบเฉพาะตัวของแต่ละองค์กร ในแต่ละประเด็น… การสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล อาจจะไม่คิดถึงเรื่องเงิน แต่คิดถึงเรื่องเป้าหมายของการทำงานให้มีเอกภาพก่อนเป็นอย่างแรก คนในทีมทำงานต้องพูดเรื่องเดียวกันก่อน และความสมบูรณ์แบบอาจจะเป็นศัตรูของการพัฒนาในโลกดิจิทัล เพราะโลกดิจิทัลมีบริบทที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา”