ครั้งแรกดนตรีในสวน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ ใจกลางกรุง

สะท้อน ความจริง ความงาม คุณค่าความหลากหลายในสังคม ด้านรองผู้ว่าฯ กทม. มองโอกาสต่อยอดความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ในหลักสูตรโรงเรียนสังกัด กทม.

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2565 ที่ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี เขตปทุมวัน สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), กรุงเทพมหานคร, The Active และ Thai PBS ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมดนตรีในสวน ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์” เนื่องในสัปดาห์วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2565

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยกว่า 60 กลุ่ม มาร่วมจัดกิจกรรมดนตรีในสวนใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีการบรรเลงดนตรีผสมผสาน 4 วงชาติพันธุ์ กับวงออร์เคสตรา โดยนิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา, การแสดงร่วมสมัยจากวงคลีโพ, เสียงสาละวิน และรำตง คลิตี้ล่าง รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองจาก 5 ภาค 

พวกเขาตั้งใจสะท้อนว่าดนตรีที่หลากหลาย ก็เหมือนผู้คนที่มีทางความหลากหลายในสังคมไทย ที่แม้จะมีความแตกต่าง ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ

ความจริง ความงาม คุณค่าความดีงามของชาติพันธุ์ ที่ส่งผ่านดนตรีบทเพลงที่หลากหลาย

สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมหลักในการจัดกิจกรรมดนตรีครั้งนี้ กล่าวถึงแนวคิดการนำเสนอดนตรีและการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ครั้งนี้ว่าต้องการนำเสนอสิ่งสำคัญ 3 เรื่อง คือ ความจริง ความงาม และความดีของกลุ่มชาติพันธุ์ 

“สิ่งที่เรานำเสนอผ่านดนตรี บทเพลง และการแสดงมี 3 เรื่อง คือ ความจริง ซึ่งก็คือเรื่องราวสถานการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญอยู่ ทั้งความโรแมนติก และความรามาติก คือทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่ชาติพันธุ์เผชิญ และเรื่องราวดี ๆ ส่วนความงาม คือ เมโลดี้ สีสันดนตรี การร้อง การแสดง ความงามที่แตกต่างจากกระแสหลัก และความดี คือ คุณค่า ความหมาย ดนตรี เนื้อร้อง บทเพลง การแต่งกายต่าง ๆ ซึ่งคาดหวังว่า เราพาดนตรีวัฒนธรรมให้ได้เห็นได้ฟัง แล้วจะได้เข้าใจในสื่งที่เราสื่อสาร เข้าใจความหลากหลายของชาติพันธุ์“ 

สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ

บรรยากาศตลอดทั้งงาน ได้รับความสนใจจากผู้ชม ทั้งคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ารับชมอย่างต่อเนื่อง บางส่วนสะท้อนว่าอยากให้มีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกหลายครั้ง เพราะนอกจากความเพลิดเพลินในการรับชมกิจกรรมดนตรีการแสดงที่หลากหลายจากกลุ่มชาติพันธุ์ ยังได้เข้าใจวิถีวัฒนธรรมที่ส่งผ่านจากการแสดง ดนตรีและเนื้อหาจากบทเพลง และยอมรับ เข้าใจ ความแตกต่างหลากหลายของวิถีวัฒนธรรมและผู้คนในสังคม

“ผมมองว่าดนตรีเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโลกทั้งโลกได้อยู่แล้ว เป็นโอกาสดีที่ได้มาฟังดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ สามารถทำให้เราเข้าใจในบทเพลง เพราะมีการแปลภาษาให้เราเข้าใจด้วย ทำให้เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของเขามากขึ้น อยู่ร่วมกันบนความเข้าใจทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไปด้วย“ 

ชนินทร์ อิทธิชัยเจริญ ผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมดนตรีในสวนของกลุ่มชาติพันธุ์

ช่วงหนึ่งที่สร้างความประทับใจ คือ ช่วงที่กลุ่มชาติพันธุ์และผู้ชม ได้ประสานมือล้อมวงเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีกำแพงของความแตกต่างชาติพันธุ์ วิถีวัฒนธรรม เป็นความหลอมรวมความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยการยอมรับและเข้าใจ 

เรียนรู้รากเหง้าวิถีวัฒนธรรม บนความมั่นคงในชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่าน 9 เมนูอาหารชาติพันธุ์

อีกหนึ่งความพิเศษในงาน นอกจากสุนทรียทางดนตรีและการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีกิจกรรมชิม 9 เมนูอาหารชาติพันธุ์ จากเชฟชนเผ่าไททรงดำ มอญ ญัฮกุร โซ่ทวึง มอแกลน ไทใหญ่ กะแย ปะโอ ลีซู ปกาเกอะญอ และอาหารชาติพันธุ์ฟิวชันจากเชฟมิชลินสตาร์ “เชฟโบ” ดวงพร ทรงวิศวะ ที่ได้รับความสนใจต่อคิวชิมอาหาร พูดคุยถามถึงชื่อเมนู รวมทั้งที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งทำให้ผู้มาร่วมงานได้เรียนรู้วิถีความมั่นคงในชีวิตของกลุ่มชาตพันธุ์ผ่านอาหาร 

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายยังมีการนำเสนอกิจกรรมข้าวแลกปลา  ระหว่างชาวเล และชาติพันธุ์ต่าง ๆ  สะท้อนอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่แค่การกินอิ่มนอนอุ่น แต่คือการเกื้อกูลแบ่งปันช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทุกอย่างปิดตัวลง ขาดรายได้ซื้อข้าวปลาอาหาร ชาวเล และชาวดอย ได้แบ่งปันข้าวอาหารช่วยเหลือกันให้อยู่รอด 

รองผู้ว่าฯ กทม. มองโอกาสต่อยอดความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมในหลักสูตรโรงเรียนสังกัด กทม.

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลด้านการศึกษา สังคม และการพาณิชย์ ของ กทม. กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรมดนตรีในสวนครั้งนี้ว่า กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แทรกซึมด้วยผู้คน ที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาทำงาน มาศึกษา หรือตั้งรกรากในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ต้องทำการสำรวจว่ามีอยู่เท่าไหร่ เพื่อให้การอยู่ร่วมกัน และการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ และเป็นเมืองที่น่าอยู่ตามนโยบายเกิดขึ้นได้จริง พร้อมมองถึงโอกาสต่อยอดความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมในหลักสูตรโรงเรียนสังกัด กทม.

“มองเห็นโอกาสต่อยอดนำเรื่องความหลากหลายแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เข้าไปอยู่ในหลักสูตรมานุษยวิทยาของโรงเรียนในสังกัด กทม. อาจเริ่มต้นเป็นการเรียนในช่วงวันเสาร์ พาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และบรรจุเป็นหลักสูตรเพื่อให้เกิดการเคารพความแตกต่างหลากหลายในเมือง ซึ่งคาดว่ามีอยู่หลายแสนคน“ 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร


สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ https://bit.ly/3brD77g

ดูเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทาง https://theactive.net/topic/indigenous/

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ