“สำรับชาติพันธุ์” และ “มันนิ-ใต้ป่าภูผาเพชร” 2 สารคดีเปิดบันทึกวิถีชาติพันธุ์พื้นเมืองที่เผชิญความท้าทายกับกติกาโลกสมัยใหม่ ชมฟรี 6-7 ส.ค. นี้ ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ
เนื่องในวาระวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 6-7 สิงหาคมนี้ The Active โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ชวนดูสารคดี 2 เรื่อง “สำรับชาติพันธุ์” และ “มันนิ – ใต้ป่าภูผาเพชร” พร้อมกับวงเสวนาข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่ชนเผ่าพื้นเมืองในไทยประสบอยู่ ตลอดจนยอมรับตัวตน อัตลักษณ์ คุณค่าวิถีวัฒนธรรมของพวกเขา รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่อย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- เวลา 15.00 – 16.00 น. | สารคดี “สำรับชาติพันธุ์”
สำหรับชาวเล ปลาที่หามาได้ เป็นความสัมพันธ์และการดูแลกันในยามยากลำบาก ทุกวันนี้ ลูกหลานชาวเลต้องออกเรือไปไกลขึ้น เพื่อจะได้ปลามากพอกินและขาย ขณะที่ไร่หมุนเวียนคือวัฒนธรรมอาหาร คือจารีตประเพณี เป็นกติกาที่ชาวปกาเกอะญอยึดถือเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ กำลังแปรเปลี่ยน
เมื่อความมั่นคงทางอาหารของชาวชาติพันธุ์ในฐานะผู้ผลิตอยู่ยาก ค่าครองชีพของคนเมือง – ผู้บริโภคก็สูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นวัฏจักรที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม
พื้นที่ทางอาหาร และมรดกทางวัฒนธรรมของหลายชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับความท้าทาย ศักยภาพในการพึ่งพาตนเองที่มีมาอย่างยาวนาน กำลังถูกสั่นคลอนจากผู้ที่ไม่เข้าใจ และมีอคติต่อวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องราวของกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ และชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นตัวแทนสะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของ กลุ่มชาติพันธุ์กับกติกาโลกสมัยใหม่ จะเดินไปพร้อมกันอย่างไร อาจขึ้นอยู่กับโอกาส และจะมีส่วนร่วมออกแบบชีวิตตัวเองแค่ไหน
- 16.00 – 17.30 น. | วงเสวนา “จากสำรับชาติพันธุ์ สู่ความมั่นคงอาหารคนเมือง”
ถ้าทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเลเปลี่ยน จะเหลืออะไรให้พวกเรากิน?
- อรวรรณ หาญทะเล เครือข่ายชาติพันธุ์ภาคใต้
- สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์
- อภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
- สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ประสานงานกฎหมายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)
- มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ)
- พัฒนะ จิรวงศ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
*ลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อชมสารคดีฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://forms.gle/71aTPxT5SPjGUPao8
วันที่ 7 สิงหาคม 2565ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- เวลา 11.00 – 12.00 น. | สารคดี “มันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร”
นี่คือการเปิดบันทึกชาติพันธุ์แห่งผืนป่าเทือกเขาบรรทัดของ #ชาวมันนิกลุ่มภูผาเพชร มันนิเร่ร่อนกลุ่มท้าย ๆ ที่ยังคงวิถีการใช้ชีวิตในป่า กับความท้าทายจากโลกภายนอกในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ชาวมันนิกลุ่มภูผาเพชรจะยังมีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามวิถีเดิมในผืนป่า หรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แล้วทางออกที่ดีที่สุด คือทางไหน ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน !
- 12.00 – 12.30 น. | เสวนา “มุมคนนอก มองมันนิ ทางที่เลือกไม่ได้”
ฟังเสียงเงียบของป่า มองจากมุมคนเมือง
- รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. ผู้ที่เคยพามันนิไปทำบัตรประชาชน และทำทะเบียนราษฎร์
ดำเนินรายการ โดย บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล
*ลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อชมสารคดีฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://forms.gle/ja2FwdC9W68FApou9
สำหรับ ‘สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ (สชพ.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เพื่อเป็นกลไกหลักของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบายและกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ล่าสุด สชพ. ได้ยกร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นให้รัฐยอมรับการมีตัวตนและเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) และ สชพ. คาดหวังว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองฉบับอื่น ๆ อีก 4 ฉบับ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ที่ยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จะได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในไม่ช้านี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาร่วมกันโดยเร็ว
นอกจากนี้ การจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยปีนี้ ยังสอดรับกับเจตนารมณ์ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2565-2575 เป็นทศวรรษสากลของภาษาชนเผ่าพื้นเมือง (International Decade of Indigenous Languages: IDIL 2022-2032) เพื่อให้รัฐภาคีและประชาคมโลกได้ตระหนักถึงสถานการณ์วิกฤติของภาษาชนเผ่าพื้นเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด และส่งเสริมภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจังอีกด้วย.
สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ https://bit.ly/3brD77g