ภาคประชาสังคม คาดหวัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอาจริงควบคุมการผลิต และยุติมลพิษพลาสติกทั้งวงจร
วันนี้ (13 พ.ย. 67) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และ สมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ (Trash Hero Thailand Association) ในนามตัวแทนของ 160 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นข้อเรียกร้องถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน อภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจา ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก’
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโส และผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าวข้อเรียกร้อง 10 ประการ ด้วยใจความสำคัญคือการควบคุมการผลิต ลดการใช้พลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
“เราอยากช่วยเป็นกำลังใจ สนับสนุนภาครัฐที่ตั้งใจอยู่แล้ว นำข้อเสนอของเราไปทำให้นโยบายครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติกมากยิ่งขึ้น ที่นำไปถึงต้นตอได้”
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์
โดยระบุว่า ปัจจุบันการจัดการพลาสติกในประเทศไทยยังเน้นย้ำไปที่ปลายทาง อย่างเช่น การจัดการขยะและการรีไซเคิล แต่การจัดการพลาสติกนั้น ควรครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะน้ำมัน, การผลิตในโรงงานปิโตรเคมี, การขนส่งสารเคมี, การจำหน่าย, การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการหลังการใช้งาน เช่น การฝังกลบ เผา หรือรีไซเคิล
“เราต้องก้าวข้ามการจัดการพลาสติกเพียงแค่เรื่องขยะ ตอนนี้การจัดการในประเทศไทยเน้นย้ำไปที่ปลายน้ำ อย่างการรีไซเคิลก็อยากทำให้ดีขึ้น แต่พลาสติกมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การผลิต”
ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์
ศลิษา ยังระบุถึงความหวัง ว่า อยากให้ภาครัฐทำงานทีมเดียวกับภาคประชาสังคม มาช่วยกันผลักดันไปทิศทางเดียวกัน โดยเข้าใจว่าภาครัฐหรือกรมควบคุมมลพิษ ต้องเป็นตัวกลางระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับภาคเอกชน และอยากให้รัฐได้ฟังเสียงสนับสนุนด้านข้อบทที่อาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เห็นว่า ประชาชนพร้อมที่จะลดการใช้พลาสติก และผู้บริโภคพร้อมจะสนับสนุนภาครัฐ
ในแถลงการณ์ ยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย แสดงจุดยืนเรื่องการจัดการพลาสติกทั้งหมด 10 ประการดังนี้
- ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
- กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
- กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
- กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
- กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
- ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
- ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
- กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
- กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ขณะที่ ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) บอกว่า การยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้แสดงออกว่า ประชาชนเห็นด้วย เหมือนเป็นการสนับสนุนความคิดของทางหน่วยงาน ว่า สิ่งที่เขาคิดในเรื่องผลกระทบมันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว มีผลกระทบจริง ๆ เขาคิดไปถูกทางแล้ว พร้อมย้ำถึงการทำงานร่วมกันกับรัฐ ว่า ได้มีการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนกันและกัน
“เรามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐ เรามาสนับสนุนว่าสิ่งที่เขาคิด ว่าประชาชนเห็นด้วยนะ เราอยากให้เขาไปให้สุด ช่วยส่งแรงให้เขาไปให้สุดว่าต้องทำเรื่องนี้ให้ได้นะ”
ฐิติกร บุญทองใหม่
“ในส่วนนี้เหมือนเป็นการแชร์ข้อมูลกับเขาว่าเรามีการศึกษาเรื่องนี้อยู่ และเราอยากแชร์ให้เห็นว่า อย่างสารเคมีที่คิดว่าจะแบน มันควรจะแบนจริง มันกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการพบสารเคมีพวกนี้ในร่างกายมนุษย์แล้ว เราก็เอาข้อมูลที่มีมาแชร์ให้กับหน่วยงาน”
ฐิติกร บุญทองใหม่
ทั้งนี้ตัวแทนประเทศไทยจาก กรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง EJF มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ กรีนพีซประเทศไทย กำลังจะไปเข้าร่วมประชุมเพื่อร่างข้อตกลง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ “Global Plastic Treaty” ในการเจรจารอบสุดท้ายระหว่างคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee หรือ INC) ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้ ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
จุดเริ่มต้นของสนธิสัญญาพลาสติกโลก มาจากการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) เมื่อปี 2565 ที่มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ โดยกำลังพยายามตกลงและพัฒนาสนธิสัญญาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก ด้วยเป้าประกาศเริ่มใช้มาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลนี้ในปี 2568 เป็นที่มาของเป้าหมายการร่างสนธิสัญญาฉบับแรกให้แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้
โดยนักสิ่งแวดล้อม คาดว่า สนธิสัญญานี้จะเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส ด้วยเป้าหมายลดปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก