หนุนงบฯ วิจัยแก้ฝุ่น PM2.5 จ.เชียงใหม่ เน้นชุมชนมีส่วนร่วม เคลื่อนแก้ต้นตอทุกมิติ

กสว. ร่วมมือ จ.เชียงใหม่ และชุมชน ทำวิจัย 16 โครงการ แก้ปัญหาฝุ่นจากต้นตอของปัญหา เพื่อขับเคลื่อนใน 4 มิติ ไฟป่า ไฟเกษตร หมอกควันข้ามแดน พร้อมจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป้าหมายต่อยอดสู่นโยบาย กฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ 

วันนี้ (19 พ.ค. 2567) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมหารือ เดินหน้าใช้งานวิจัยแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 และปัญหาไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนงานวิจัย รวม 16 โครงการ ด้วยทุนวิจัยรวมกว่า 70 ล้านบาท ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน 

โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าหมายว่า จะลดปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในแต่ละพื้นที่ การมีชุดข้อมูลที่เชื่อมโยงการทำงาน สามารถต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรมที่แต่เดิมใช้วิธีการเผาป่าในช่วงหลังเก็บเกี่ยวและเพาะปลูก

ศ.เกียรติคุณ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ทำงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเมืองที่สำคัญในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้เป้าหมายของการนำวิจัยเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังเผชิญและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 และปัญหาไฟป่า ซึ่งปัจจุบันทั้งรัฐบาล หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เร่งระดมหาทางออกให้กับ จ.เชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายลดวิกฤตเมืองที่มีค่ามลพิษติดอันดับโลก ให้กลับสู่ภาวะปกติ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) อย่างเข้มข้น เพื่อให้ภาคการบริหารท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

ศ.เกียรติคุณ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)

“จ.เชียงใหม่ ต้องเผชิญกับภาวะไฟป่าและค่ามลพิษที่ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง โดยความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่โซลูชันในการแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

ศ.เกียรติคุณ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

ศ.เกียรติคุณ นพ.สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ จึงจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูประบบ ววน. โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อให้กองทุน ววน. ได้สนับสนุนด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้อย่างมีทิศทางตามที่ประเทศต้องการ

ซึ่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละจังหวัด รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในแต่ละพื้นที่เป็นเป้าหมายสำคัญในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเร่งนำงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเข้าไปช่วยสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้คณะทำงานได้รับทราบถึงปัญหาและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับแนวทางการแก้ไขที่สอดคล้องกับบริบท มีประสิทธิภาพ ภายในระยะเวลาที่เร่งด่วนและเหมาะที่สุด

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ กองทุน ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่นำร่อง จ.เชียงใหม่ การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ การมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการของ จ.เชียงใหม่

รศ.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า การหารือในครั้งนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้มีการประเมินผลลัพธ์จาการสนับสนุน 16 โครงการวิจัยใน 4 มิติเร่งด่วนไว้ คือ

  1. โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิม ต่อเนื่องไปถึงความเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิต ที่ปัจจุบันกำลังมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความยั่งยืน สามารถนำมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งจะช่วยในเรื่องของการรู้วิธีการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ การมีระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย
  • การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันที่มีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ  และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ และมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM2.5 ของกรรมการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ
  • การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม วิธีทำเกษตรที่เป็นรูปธรรมที่สามารถสร้างรายได้ใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยเฉพาะหลังกระบวนการเก็บเกี่ยวและก่อนเริ่มทำการเพาะปลูก การปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนและโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น
  • การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศ รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

ในส่วนการดำเนินงานของ สกสว. โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นดังกล่าว จำนวน 16 โครงการ ภายใต้งบประมาณปี 2567 เป็นเงินทุนวิจัยรวมกว่า 70 ล้านบาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ (จำนวน 5 โครงการวิจัย) 2. การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (จำนวน 6 โครงการวิจัย) 3. การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร (จำนวน 4 โครงการวิจัย) และ 4.การลดฝุ่นข้ามแดน (จำนวน 1 โครงการวิจัย)  

ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ด้าน ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ มีปัจจัยจากหลากหลายด้าน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากหมอกควันข้ามแดนจากจุดความร้อนในประเทศและประเทศใกล้เคียง การทำการเกษตรที่ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจวิธีการที่ถูกต้อง ตลอดจนการมีนวัตกรรม ชุดข้อมูล เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมานั้นภาคส่วนการปกครองและการบริหารส่วนท้องถิ่นของเชียงใหม่ได้มีการแก้ไขสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขอความร่วมมือจากภาคประชาชน การปิดป่าอนุรักษ์ การปฏิบัติการขอฝนหลวง รวมทั้งการจัดทำแผนงาน และการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ในพื้นที่

“การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับ สกสว. เป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤตคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งใจว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่ทาง สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้วิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังหวัดได้อย่างเข้มข้น”

ทศพล เผื่อนอุดม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active