เตือน 7 จังหวัดริมน้ำโขง ระวังผลกระทบจากกรดซัลฟิวริก 30 ตันรั่วไหลลงแม่น้ำ

คาดพรุ่งนี้ (8 เมษายน 2567) กรดซัลฟิวริก 30 ตัน จากรถบรรทุกคว่ำที่หลวงพระบางไหลผ่าน จ.เลย – จ.อุบลราชธานี ด้าน สทนช. ประกาศเตือนประชาชน 7 จังหวัดริมน้ำโขง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ล่าสุดกรมอนามัยลงตรวจน้ำ พบค่ากรด-ด่างยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศแจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 293 กิโลเมตร ทาง สทนช. พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไซยะบุรี วันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 – 10 เมษายน 2567 และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย

อาจเป็นรูปภาพของ พิมพ์เขียว และ ข้อความ

สทนช. เร่งประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อเจือจางสารเคมีในน้ำเขื่อนไซยะบุรี เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แจ้งเตือนให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

โดยกรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบและคุณภาพน้ำของแม่น้ำโขง บริเวณจุดสถานที่ท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย พบผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย ทั้งนี้ หน่วยงานจะยังคงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม จำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5 – 12 เม.ย. 67

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการและกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า กรดซัลฟิวริก (sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน จัดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ลักษณะทั่วไปจะเป็นของเหลวใสคล้ายนน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืด จัดเป็นกรดแร่อย่างแรง ละลายในน้ำได้ดี มีฤทธิ์กัดกร่อนวัตถุเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะสัมผัส มีพิษเฉียบพลันโดยการสูดดม สารละลายและกรดซัลฟิวริก ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา และเยื่อบุได้อย่างรุนแรง

“กรดซัลฟิวริกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงแต่สามารถเจือจางได้ง่ายภายใต้น้ำปริมาตรมาก ซึ่งผลจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในขณะนี้ พบว่า แม่น้ำโขงบริเวณ จ.เลย ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ”

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active