แพทย์ ห่วงฝุ่นควัน ‘เผาป่า-ไร่อ้อย’ เด็กเสี่ยงหนัก กระทบพัฒนาการทางสมอง

กรณีเด็กนักเรียน จ.ลพบุรี วิ่งเตลิดหนีฝุ่นควันพัดเข้ามาในโรงเรียน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจ หวั่นนักเรียน ชุมชน เสี่ยงอันตรายระยะยาว แนะท้องถิ่น โรงเรียน เร่งแก้เฉพาะหน้า สร้าง ‘ห้องปลอดฝุ่น’ ให้นักเรียนได้หลบภัย หากยังจนปัญญาแก้ที่ต้นตอ

วันนี้ (22 ก.พ. 67) กรณีโลกออนไลน์เผยแพร่คลิป ครู และนักเรียน โรงเรียนซอย 3 สาย 4 ซ้าย ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี วิ่งหนีออกมาจากโรงเรียนเนื่องกลุ่มควันไฟจำนวนมาก ที่มาจากการจุดไฟเผาไร่อ้อยในพื้นที่พัดลอยเข้ามาภายในโรงเรียน จนเกิดเป็นเหตุการณ์ชุลมุน และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัย และอันตรายต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน

เบื้องต้นเหตุการณ์นี้ คาดว่ากลุ่มควันไฟที่เกิดขึ้นมาจากการเผาป่าของกลุ่มวัยรุ่น จนไฟไหม้ลุกลามไปที่ไร่อ้อยด้านหลังของโรงเรียนทำให้เมื่อลมกรรโชกแรงก็พัดพาควันไฟ เปลวไฟ และฝุ่นเถ้าถ่านจากกองเพลิง เข้าปกคลุมทั่วโรงเรียน จนครูและนักเรียน กว่า 340 ชีวิต ต้องพากันอพยพออกจากที่เกิดเหตุ

จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาโรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ The Active ว่า ควันไฟจากการเผาไหม้ป่านั้นมีความหนาแน่นของฝุ่นสูง และอาจมีอันตรายมากกว่ามลพิษทางอากาศเสียอีก เพราะในควันเผาไหม้ จะมีฝุ่นที่มีอนุภาคหลายขนาดปะปนกันไปทั้งใหญ่เล็ก 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

ฝุ่นขนาดใหญ่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะอยู่บริเวณส่วนบนของทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อร่างกายในทันที เช่น เจ็บคอ, แสบตา, ระคายเคืองจมูก และ มีเสมหะ

ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กเป็นหมือนภัยเงียบ แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับเข้าสู่ร่างกายได้ในระดับที่ลึกกว่า คือ ไปที่ปอด และหลอดลมฝอย ส่งผลกระทบในระยาว ไม่ว่าจะเป็นหลอดลมตีบ หรือทำให้ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย 

โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นนี้ กระทบต่อเด็กนักเรียนโดยตรง หากได้รับฝุ่นขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายซ้ำ ๆ จะทำให้การเจริญเติบโตของปอดชะงักลง เมื่อพัฒนาการของระบบทางเดินหายใจไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ด้วย

ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว การรับฝุ่นเข้าไปจะทำให้มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด หรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในช่องท้องหรือระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเหล่านี้จะทำให้ปอดต้องทำงานมากขึ้นกว่าปกติ 3-4 เท่า หากปอดมีต้นทุนต่ำ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากกการติดเชื้อได้ 

สำหรับผลกระทบในระยะยาว หากได้รับฝุ่นควันอย่างยาวนานต่อเนื่อง จะทำให้มีต้นทุนปอดที่ไม่แข็งแรง เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพปอดอาจลดลงเหลือแค่ 60% เท่านั้น และเมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูดควันพิษ สูบบุหรี่ หรือจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ จะทำให้เจ็บป่วยง่าย หรือโรคพัฒนาไปสู่ระยะท้ายได้รวดเร็วกว่าคนทั่วไป

“หากผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตเรื้องรัง หลอดเลือดหัวใจเรื้อรัง จะทำให้อาการลุกลามเร็วกว่าปกติ และโรคพัฒนาไปสู่ระยะท้ายได้เร็วยิ่งขึ้น หากเคยเป็นวัณโรค จะมีการกลับมาของวัณโรคซ้ำได้ง่ายขึ้น หรือพัฒนาไปสู่มะเร็งปอดทั้ง ๆ ที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ด้วย”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ครูตัดสินใจอพยพนักเรียนออกจากที่เกิดเหตุ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว แต่หากนักเรียนยังอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือกลับไปบ้านก็ยังคงได้รับผลกระทบจากฝุ่นอยู่ดี หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่นได้ ชุมชนหรือโรงเรียนควรเตรียมการสร้าง “ห้องปลอดฝุ่น” ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เป็นเหมือนหลุมหลบภัยในยามที่เกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางสำหรับการดูแลตัวเองนั้น 

“การมีเครื่องกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับขนาดห้องสามารถช่วยได้ในเบื้องต้น โดยต้องมีประสิทธิภาพในการกรองอากาศมากกว่า 60% และหากต้องออกไปทำกิจวัตรข้างนอก การใส่หน้ากากอนามัยก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ไม่แนะนำให้ใส่นอนตอนกลางคืนสำหรับกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะขณะหลับ คนเราจมีปริมาณออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และคาร์บอนไดออกไซด์สูง หากร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภาวะของโรคบางอย่างอยู่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active