เล็งขยายผล ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ เสริมทักษะเด็ก สปป.ลาว รู้ทันภัย PM2.5

ขับเคลื่อนนวัตกรรม ‘ธุรกิจสู้ฝุ่น’ – ‘บ้านสู้ฝุ่น’ 19 ชุมชน จ.เชียงใหม่ หวังสร้างต้นแบบ แก้ปัญหาฝุ่นควันเขตเมืองทั่วประเทศ

วันนี้ (21 พ.ค. 65) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาลมหายใจเชียงใหม่, เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’

พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมแนวคิด ‘ธุรกิจสู้ฝุ่น บ้านสู้ฝุ่น’ จ.เชียงใหม่ มุ่งขับเคลื่อนงานลดมลพิษทางอากาศในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ครอบคลุมทั้ง 19 ชุมชน ณ เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงสุดเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ในปี 2563 สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสู้ฝุ่นภาคเหนือ พัฒนานวัตกรรม ห้องเรียนสู้ฝุ่น ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนกว่า 100 โรง สามารถรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และกลายเป็นผู้ส่งต่อความรู้สู่คนในชุมชนรอบข้าง ปี 2565 นี้ ได้พัฒนานวัตกรรมแนวคิด ธุรกิจสู้ฝุ่น บ้านสู้ฝุ่น จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางการลดฝุ่นที่สามารถทำได้ง่าย

“ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ที่ปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจ และกิจกรรมการใช้ชีวิต โดยมีจุดร่วมคือ ทุกคนมีความรักในเมืองเชียงใหม่ ด้วยหัวใจของการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน ตามแนวคิดการปรับบ้านในพื้นที่เมืองเพื่อเป้าหมายการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นควัน มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาฝุ่นในพื้นที่เมืองเชียงใหม่จนนำไปสู่การเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้”

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส.

ขยายผล ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ส่งต่อองค์ความรู้ประเทศเพื่อนบ้าน


ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. บอกว่า ห้องเรียนสู้ฝุ่น ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้รับเชิญเป็นต้นแบบการเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติระดับชาติ ในการประชุมป่าไม้โลก ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงองค์การนาซ่า นำไปเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องของการติดตามการเกิดไฟ ถือเป็นความสำเร็จในเวทีระดับโลก การจัดงาน MOU ครั้งนี้ มีเป้าหมายขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นไปสู่กลุ่มลุ่มน้ำโขง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายในปี 2566 มุ่งส่งต่อองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการเผาในที่โล่งเพื่อลดต้นเหตุสำคัญในการเกิดฝุ่นควัน PM 2.5

ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวถึงรูปแบบของ ‘ธุรกิจสู้ฝุ่น’ ว่า แบ่งออกเป็น 3 ระดับ 1. ธุรกิจเพื่ออากาศสะอาด ร่วมติดตั้งป้ายรณรงค์ลดฝุ่น หรือประชาสัมพันธ์พันธุ์ไม้ซับฝุ่น 2. ธุรกิจปฏิบัติการเพื่ออากาศสะอาด ร่วมตรวจสอบคุณภาพของรถ ลดควันดำ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ 3. ธุรกิจเครือข่ายอากาศสะอาด ร่วมจัดตั้งกองทุน รวมถึงขยายความร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัด ทั้งนี้ ธุรกิจสู้ฝุ่น ได้สร้างต้นแบบธุรกิจที่ลดการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการกว่า 30 ธุรกิจ โดยมีตราสัญลักษณ์ ‘น้องสดใส’ มอบให้ผู้ประกอบการเพื่อแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเชียงใหม่เพื่ออากาศสะอาด

ขณะที่ เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ระบุถึงรูปแบบของ ‘บ้านสู้ฝุ่น’ คือ การปรับบ้านเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นควัน มี 3 ขั้นตอน 1. เจ้าของบ้านจิตอาสา ต้องยินดีเข้าร่วมอบรมในกิจกรรมการปรับปรุงบ้าน 2. ปรับปรุงภูมิทัศน์ของบ้านและติดตั้งอุปกรณ์ ทั้งระบบน้ำฝอย ปลูกพันธุ์ไม้ซับฝุ่น และเครื่อง DustBoy อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. เจ้าของบ้านร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้แก่คนในชุมชน ทั้งนี้ มีเจ้าของบ้านจิตอาสาเข้าร่วมกว่า 100 ครัวเรือน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้