“เอลนีโญ” ทำ PM 2.5 รุนแรงขึ้น นักสิ่งแวดล้อม แนะ เร่งเดินหน้า “กองทุนอากาศสะอาด”

ฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรจ่อรอเผาอีกกว่า 10 ล้านไร่ แต่รัฐยังไม่เห็นมาตรการใหม่ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ย้ำปัจจัย ไทยแก้ฝุ่นไม่ได้ เพราะไม่มีหน่วยงานบูรณาการ แนะดัน “กรมควบคุมมลพิษ” คุมภาพรวม คู่ขนาน สร้างกลไกเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้ง “กองทุนสิ่งแวดล้อม” และ “มาตรการที่ไม่ได้แจกแต่เงิน”

สถานการณ์ PM 2.5 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ สถานการณ์ปี 2567 ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ “เอลนีโญ” ปัจจัยหลักคือ เรื่องค่าฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2567 ขณะที่อุณหภูมิจะร้อนขึ้นกว่าปกติ ร้อนแล้ง และไม่มีฝนจะยิ่งเอื้อต่อการเผาของเกษตรกรในหลายพื้นที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ 10% ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าใน ปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศ และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน และจะเริ่มพบกับสถานการณ์ฝุ่นที่หนักขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ ทางการประกาศว่า ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ จากนั้น ช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดน

จากข้อมูลฝุ่นวันนี้(25 พ.ย. 2566) ​ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุ สถานการณ์ PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังพบสูงขึ้นในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 1 พื้นที่ บริเวณ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยช่วง 1 – 2 วันนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมีแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้นบางพื้นที่

ล่าสุด สธ. ออกมาตรการดูแลประชาชน จาก ฝุ่น PM 2.5

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมว่า ที่ประชุม เห็นชอบกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนจากฝุ่น PM 2.5 เช่น การกำหนด มาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม, การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ, การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ, การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ, การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆของพนักงานเจ้าหน้าที่ ฯลฯ

โดยย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเน้นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชน จากการคาดการณ์ว่าในปีหน้านี้ ฝุ่น และปัญหาหมอกควันจะเพิ่มขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ห่วง เผาเพิ่มฤดูเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่เห็นมาตรการใหม่รับมือฝุ่น

The Active สัมภาษณ์ รศ.วิษณุ อรรถวานิช  นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์  ติงมาตรการรัฐมักเน้นการแจกเงินลดผลกระทบให้กับเกษตรกร แต่ยังไม่ได้เน้นมาตรการกำจัด PM 2.5 ทีแหล่งกำเนิด ทั้งจากภาคยานยนต์, ภาคการเกษตรป่าไม้, และภาคอุตสาหกรรม ที่ยังไม่มีมาตรการจัดการโรงงานขนาดเล็ก และโรงงานขนาดกลางที่เป็นแหล่งปล่อยมลพิษสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มี “กองทุนอากาศสะอาด” ทั้งที่เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้มีงบประมาณที่ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้ม เช่น เดียวกับงบประมาณจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีจำนวนไม่มาก

อาจารย์ให้ข้อมูลว่า การเผาในภาคการเกษตรตั้งแต่ปลายปี 2566 จะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้นเดือนธันวาคม-ต้นปี 2567 จะเห็นการมากกว่า 10 ล้านไร่ จึงห่วงในว่า หากรัฐยังใช้มาตรการไม่ต่างจากเดิม เช่น มาตรการทางกฎหมาย จับ ขอความร่วมมือ ผลกระทบก็อาจไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา จึงควรเสริมมาตรการจูงใจในทางเศรษฐศาสตร์

แนะสร้างกลไกเชิงเศรษฐศาสตร์จูงใจ-แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการคุยกันเรื่อง กำลังคนกรมป่าไม้ และ ทส.ที่เตรียม กำหนดจุดเผาใน อุทยาน 10 แห่ง แต่การเผา แต่การเผา 8-9 ล้านไร่ ต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เห็นมาตรการที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น การมี กฎหมายอากาศสะอาด ก็ยังล่าช้าผ่านหลายขั้นตอน กว่าหน่วยงานใหม่ ในกฎหมายใหม่ จะผ่านการเสนอตั้ง ก็ต้องใช้เวลา ขณะที่ งบประมาณช่วยเหลือด้านฝุ่นก็น้อยมาก และไทยยังไม่มี “กองทุนอากาศสะอาด” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาบริหารจัดการฝุ่นระยะยาว โดย เงินจากกองทุนนี้ มาจาก การเก็บเงินจากผู้ปล่อยมลพิษ หรือ เอาเงินกลับไปหาผู้ปล่อยให้ปรับตัว ซึ่งการมีมาตรการจูงใจอาจต้องใช้เวลาปรับตัว บางประเทศใช้เวลา 3-4 ปี เกษตกรจึงจะสามารถลดการเผาได้ หากไม่ทำปัญหาอาจจะกลับมา

ที่ผ่านมาเห็นชัดว่ารัฐ ใช้เงินในการแกปัญหา แต่ยังไม่ได้ทำให้สังคมมั่นใจได้ว่า แจกเงินแล้วจะช่วยให้เลิกเผาได้ หัวใจสำคัญเพราะมาตรการเหล่านั้นไม่มีกลไกเชิงเศรษศาสตร์ที่จูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาได้ เพราะการเผาผูกโยงอยู่กับเรื่องปากท้อง นอกจากนี้การช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย ก็ควรเป็นมาตรการชั่วคราว ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นเหมือน “อุตสาหกรรมทารก” ที่ต้องเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีรัฐบาลคอยอุ้มอยู่เรื่อยๆ เหมือนที่เราเปรียบกันว่า “ไม่สอนให้คนตกปลา” จึงทำให้นโยบายการแก้ฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถแก้ได้อย่างถาวร ยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น หากใครไม่เผา จมีมาตรการช่วยรับจากแหล่งรับซื้อ หรือ ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากคณะกรรมการร่างกฎหมายอากาศสะอาด เรื่อง โรงไฟฟ้าสามารถรับซื้อสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรได้หรือไม่ โดยการให้ โรงไฟฟ้าชีวมวล ควรรับซื้อเศษวัสดุจากภาคการเกษตร แต่อาจจะไม่สามารถทำได้ทันที แต่ก็ควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง

รศ.วิษณุ มองว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาฝุ่น มีปัญเชิงโครงสร้าง ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ไม่มีหน่วยงานอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหา ทำงานข้ามกระทรวงไม่ได้  และไม่มีคนรับผิดรับชอบ เสนอให้ยกระดับ “กรมควบคุมมลพิษ” ขึ้นมาเป็นแม่งานจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีทั้งทรัพยากร, บุคคล, และงบประมาณ

สุดท้ายแล้วรัฐบาลนี้จะเดินหน้านโยบายสิ่งแวดล้อมได้เป็นที่จดจำหรือไม่ “การแก้ฝุ่น PM 2.5” เป็นเรื่องแรกๆ ที่จ่อรอคิวให้ได้แสดงผลก่อนในช่วงปีใหม่อย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active